“EIC SCB” ประเมินสงครามการค้าโลกลุกลาม “มีความเป็นไปได้ต่ำ” เตือนเงินเฟ้อเร่งตัวเกินคาด กดดันดอกเบี้ยโลกขึ้นเร็ว กระทบการลงทุน “สินทรัพย์เสี่ยง” พร้อมปรับจีดีพีไทยปีนี้เป็นเติบโต 4.3%
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(EIC SCB) เปิดเผยว่า EIC SCB ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงสามารถเดินหน้าเพื่อทำนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ (Monetary Policy Normalization) ได้ตามแผน
“สหรัฐและเขตยูโรโซนกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น ซึ่งประเมินได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและเงินเฟ้อที่เริ่มเร่งตัว พร้อมด้วยช่องว่างการผลิต (output gap) ที่ใกล้ปิด ในขณะที่กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในช่วงต้นหรือกลางวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น นั่นหมายถึงนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จะถูกทยอยลดบทบาทลง และอัตราดอกเบี้ยในหลายภูมิภาคของโลกจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น”นายยรรยงระบุ
นายยรรยง กล่าว่วา ในช่วงที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.อัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวเร็วเกินคาดจากภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว ทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเร็ว ประกอบกับราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายภูมิภาคทั่วโลกต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงและเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะถัดไปได้
2.สถานการณ์การเมืองและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในอิตาลีและสเปนที่จะส่งผลต่อฐานะการคลังในประเทศ ประเด็นความคืบหน้าการเจรจา Brexit รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในอิตาลีและสเปนยังสามารถบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนรวมถึงตลาดการเงินโลกได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อสำหรับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน
และ3.มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งแม้ว่าความเสี่ยงของการลุกลามจนเกิดเป็นสงครามการค้าโลกเต็มขนานด้วยการขึ้นกำแพงภาษีต่อกันอย่างดุเดือดนั้นจะมีความเป็นไปได้ต่ำ แต่ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกในทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจะยังคงต้องติดตามความคืบหน้ามาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นเพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
นายยรรยง ระบุว่า EIC SCB ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโต 4.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4% เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีและทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกและการท่องเที่ยวเติบโตได้ในระดับสูง การบริโภคและการลงทุนในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังจากที่หดตัวในช่วงปลายปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าที่มาจากฝั่งสหรัฐ และการตอบโต้ของคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง EIC SCB ประเมินว่า ในระยะสั้นจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในวงจำกัด โดยคาดว่าการส่งออกไทยปีนี้จะเติบโต 8.5% แต่หากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลังจากนี้ อาจจะกระทบต่อการค้าโลกและการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
“ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับกลยุทธ์การรับมือไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่รองรับ หรือการเตรียมความพร้อมกับการแข่งขันที่อาจมีเพิ่มขึ้นในบางตลาด”นายยรรยงกล่าว
นายยรรยง กล่าวว่า ในส่วนของกำลังซื้อครัวเรือนพบว่าปรับดีขึ้นจากแนวโน้มรายได้ที่เริ่มฟื้นตัว แต่ภาระหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้ EIC SCB มองว่าการการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เพราะรายได้จากค่าจ้างแรงงานและรายได้ภาคเกษตรเพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่ซบเซามาในช่วงก่อนหน้า และรายได้บางส่วนต้องถูกนำไปชำระหนี้ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของรายได้จึงไม่ส่งผ่านไปสู่การบริโภคมากเท่าที่ควร
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยพบว่ายังแข็งแกร่ง และสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยภายนอกได้ เช่น นโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ตึงตัวมากขึ้น การกลับมาแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความกังวลต่อความเสี่ยงสงครามการค้า
“EIC SCB มองว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแรง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีเพียงพอ จะเป็นตัวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง”นายยรรยงระบุ