คอลัมน์ความจริงความคิด : สมัคร “คนละครึ่ง” หรือ “ช้อปดีมีคืน” ดี?

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ในที่สุดก็มาถึงไตรมาสสุดท้ายของปีจนได้ จากเดิมเคยคิดว่าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีน่าจะจัดการ Covid19 ได้ดี จนหลงคิดไปว่า Covid19 น่าจะเป็นแค่ข่าวร้ายช่วงสั้นๆ ปรากฏว่าคิดผิดถนัด Covid19 ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชิวิตและเศรษฐกิจอย่างคาดไม่ถึง และท่าทาง Covid19 จะอยู่กับเราอีกนาน

เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ ปลายปีนี้ ภาครัฐเองก็มีมาตรการเพื่อรักษาระดับการบริโภคในประเทศทั้งหมด 3 มาตรการ ซึ่งจะครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วนกว่า 28 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท และคาดว่า GDP เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 0.54 มาตรการทั้ง 3 มาตรการมีดังนี้

• มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภค ในประเทศ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ไม่มีข้อกำหนดใดๆ ในเรื่องขนาด ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายล้วนแล้วอยู่ในข่ายที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการทั้งสิ้น และประชาชนผู้ที่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับฐานราก และส่งเสริมการอ่าน อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

• โครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นอีกโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังที่จะดูแลช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 226,161 ร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2563)

• “โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษสำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคสำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาท/คน/เดือน 3 เดือน (ต.ค. – ธ.ค. 63) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ทำการโอนเงินงวดแรกแล้วเมื่อวัน 8 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
แต่ละคนมีสิทธิเข้าได้ 1 โครงการเท่านั้น ใครเลือกเข้าโครงการไหน ก็เท่ากับสละสิทธิอีก 2 โครงการไป ดังนั้นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ไม่ต้องยุ่งยากเข้า“โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” อัตโนมัติ ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ต้องตัดสินใจเลือกจะเข้าโครงการไหนดีระหว่าง “คนละครึ่ง” กับ “ช้อปดีมีคืน” เรามาดูรายละเอียดของแต่ละโครงการก่อนตัดสินใจกันดีกว่า

“คนละครึ่ง”

มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย เพื่อให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไปผ่านฝ่ายของผู้ซื้อร้อยละ 50 โดยไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท ต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ในส่วนของประชาชนที่สนใจ ต้องการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์สามารถเข้าไปลงทะเบียนพร้อมกันได้ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 นี้

สิทธิประโยชน์
• ภาครัฐช่วยจ่ายเงิน 50%
• ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน
• ไม่เกิน 3,000 ต่อคนตลอดโครงการ

การใช้จ่าย โครงการคนละครึ่ง
• เริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2563
• สามารถใช้สิทธิ์ได้ที่ร้านอาหาร, เครื่องดื่ม รวมไปถึงสินค้าทั่วไป ที่เข้าร่วมโครงการ ยกเว้น สลากกินแบ่งรัฐบาล, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยาสูบ และ บริการ
• สามารถชำระเงินผ่าน G-Wallet ที่แอปฯเป๋าตังกับร้านค้าที่ร่วมโครงการ

ลงทะเบียนรับสิทธิ์สำหรับประชาชน
• เริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ที่ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป และรอรับ SMS ยืนยัน โดยจะเริ่มใช้สิทธิ์ใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2563 เป็นต้นไปจนถึง 31 ธ.ค. 2563 และจะถูกตัดสิทธิทันทีหากไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ หรือ วันที่เริ่มเปิดให้ใช้จ่ายตามโครงการ
เงื่อนไขในการลงทะเบียนสำหรับประชาชน
• มีบัตรประจำตัวประชาชนและต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
• มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในวันที่ทำการลงทะเบียน
• ไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
• ผู้เลือกเข้าร่วมโครงการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อลดหย่อนภาษีตามฐานการจ่ายภาษี ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” เนื่องจากต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
• จำนวน 10 ล้านคน หรือจนกว่าสิทธิจะหมด

มาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
สิทธิประโยชน์
• สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ มาหักลดหย่อนเงินได้สำหรับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุด 30,000 บาท ส่วนจะลดหย่อนภาษีได้เท่าไรขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคนว่าต้องเสียภาษีขั้นไหน ดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย
• กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
• กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
• ผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP

เงื่อนไขโครงการ
• สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนฯ
• ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกิน 30,000 บาท ต่อคน
• หากประชาชนได้ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้
• ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.63
• ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 ณ เดือน มี.ค.64

สินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
• สินค้าและบริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม, สินค้าท้องถิ่น OTOP และหนังสือ

สินค้าที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
สามารถซื้อสิ้นค้าและบริการได้ทั้งหมด ยกเว้นบางรายการ ดังนี้
• ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์
• ค่าซึ้อยาสูบ
• ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
• ค่าซื้อรถยนต์ รถจักยานยนต์ และเรือ
• ค่าซื้อหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
• ค่าบริการหนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
• ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการนำเที่ยวตามกฏหมายว่าด้วยธุรกิจและมัคคุเทศก์
• ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฏหมายว่าโรงแรม

ทีนี้จะเลือกเข้าโครงการไหนดี วิธีดูก็คือ ประโยชน์ที่ได้รับ โครงการ “คนละครึ่ง” เราจะได้ประโยชน์สูงสุด 3,000 บาท ดังนั้น ถ้าเราประหยัดภาษีจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ได้มากกว่า 3,000 บาท การเลือก “ช้อปดีมีคืน” ก็คุ้มกว่า ดูจากตารางอัตราภาษีข้างต้น ก็จะสรุปได้ว่าถ้าหักเงินค่าซื้อสินค้าและบริการตามโครงการ “ช้อปดีมีคืน” แล้วเงินได้สุทธิเรามากกว่า 300,000 บาท เลือก “ช้อปดีมีคืน” ก็คุ้มกว่า

“ช้อปดีมีคืน” ไม่ต้องสมัครเข้าโครงการ แค่ซื้อของตามโครงการก็ ok แล้ว แต่ “คนละครึ่ง” ต้องสมัครก่อนถึงจะใช้ได้ ดังนั้นก่อนเลือกเข้าโครงการ “คนละครึ่ง” ก็ดูให้ดีก่อนนะว่า เงินได้สุทธิเราเกิน 300,000 บาทป่าว