HoonSmart.com>>”บี.กริม เพาเวอร์” จุดพลุสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อการอุตสาหกรรม 980 เมกะวัตต์ ลงทุน 4 หมื่นล้านบาท เนื้อหอม 5 แบงก์ร่วมปล่อยกู้ ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนมานาน 25 ปี ส่วน”ไทยพาณิชย์-ออมสิน” ประเดิมครั้งแรก “ปรียนาถ”เผยมีโครงการลงทุนต่อแถวอีกยาว ลั่นไม่ออกนอกธุรกิจไฟฟ้า วิ่งเข้าหาเป้า 7,200 MW ในปี 68 คาดใช้เงินลงทุนอีก 1.8 แสนล้าน ยันไม่เพิ่มทุน เปิดทางพันธมิตรไทย-ต่างประเทศร่วมทุน พร้อมนำเข้า LNG ราว 2.5 แสนตัน ต้นทุนลดเพิ่มมาร์จิ้น ปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าไทย-มาเลเซีย 700 MW ไตรมาสแรก หนุนกำไรปีหน้าโต
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ( BGRIM) เปิดเผยว่า นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของบริษัทฯ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อการอุตสาหกรรมจำนวน 7 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก 5 สถาบันการเงินชั้นนำ มูลค่าลงทุน 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย (EXIM BANK) ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารออมสิน ร่วมกับ 2 บริษัทชั้นนำด้านการก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย และ บริษัท โตชิบา แพลนท์ ซิสเต็มส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส คอร์ปอเรชั่น ทำให้มั่นใจถึงศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อให้อุตสาหกรรมได้ใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่มีคุณภาพและเสถียรภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพได้เริ่มต้นให้สินเชื่อแก่ BGRIM มาตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการแรกเมื่อปี 2538 หรือตั้งแต่ 25 ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเชื่อมั่นในความสามารถในการบริหารโครงการและการเงินของบริษัท ทำให้การก่อสร้างไม่เคยล่าช้ากว่าแผน และต่ำกว่าต้นทุนตลอด นอกจากนี้ยังมีการขยายการลงทุนไปประเทศเวียดนาม กำลังจะไปฟิลิปปินส์ กัมพูชาและลาวก็ไปแล้ว ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์เห็นการเติบโตที่โดดเด่นของ BGRIM จึงเข้าร่วมสนับสนุนสินเชื่อครั้งนี้เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับธนาคารออมสิน
ด้านนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงไฟฟ้าทั้ง 7 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งสุทธิรวม 980 เมกะวัตต์ (MW) เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนของเดิม เพื่อต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 5 โครงการ รวม 700 MW จำหน่ายให้กับกฟผ. 150 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2565 ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าใหม่กำลังการผลิตรวม 280 MW จำหน่ายให้กฟผ.รวม 180 เมกะวัตต์ ระยะยาว 25 ปี ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมจะเริ่ม COD ในปี 2566 มีลูกค้าอุตสาหกรรมรองรับอยู่แล้ว
ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าอุตสาหกรรมรวม 670 MW มีสัญญาลูกค้าใหม่เพิ่มในปีนี้ 44 MW มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 3,682 MW และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมี COD รวม 3,058 เมกะวัตต์
“สินเชื่อครั้งนี้ มีดอกเบี้ย 4% ต่อปี และจ่ายเงินต้นเมื่อเริ่มมีรายได้เข้ามา มี D/E อยู่ที่ 1.5 เท่า บริษัทรักษาไว้ไม่ให้เกิน 2 เท่า โดยขอยืนยันว่าไม่ออกไปลงทุนนอกธุรกิจไฟฟ้า และไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ เช่น กรีนบอนด์ หุ้นกู้ออกมาก็มีคนซื้อ รวมถึงการใช้สินเชื่อโครงการ 75% ส่วนทุนเพียง 25% บริษัทมีเป้าหมายที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ในปี 2568 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีเงินสดในมือประมาณ 19,000 ล้านบาท และยังจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาต่อเนื่อง”นางปรียนาถกล่าวว่า
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสที่จะมีพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งในส่วนโรงไฟฟ้า โครงการระบบไมโครกริด ระบบสมาร์ทไมโครกริด ล่าสุดได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัทในเครือ ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือ ทั้งทางด้านเทคนิคและการเงิน เพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน
สำหรับโครงการที่บริษัทสนใจและมีความเป็นไปได้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯ LNG ในเวียดนาม ขนาด 2,000-3,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปได้ในปี 2564, การพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3,000 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีโครงการร่วมทุนกับปิโตรเวียดนามนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้า โครงการโซลาร์รูฟท็อปในฟิลิปปินส์ ที่มีความต้องการสูงมาก จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 6 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลก็สนใจ
ส่วนการนำเข้า LNG บริษัทคาดว่าจะนำเข้ามาประมาณ 2.5 แสนตันได้ในช่วง 2 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงมาก จากปัจจุบันซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัทปตท. โดยต้นทุนก๊าซฯที่ลดลงทุก 1 บาท/ล้านบีทียู จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 15 ล้านบาท/ปี เพราะการผลิตไฟมีต้นทุนก๊าซประมาณ 70% ของทั้งหมด ส่วนการนำเข้า LNG ตามกรอบใหญ่ที่บริษัทได้รับอนุมัติ 6.5 แสนตัน/ปีนั้น คาดว่าจะเริ่มหลังจากโรงไฟฟ้า 5 แห่งที่ทดแทนของของเดิมแล้วเสร็จในปี 2565 ทั้งนี้บริษัทจะปิดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาทั้งหมด
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้จะเติบโต 10% ส่วนกำไรสุทธิปี 2564 จะเพิ่มขึ้น จากกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งที่มีอยู่ในมือ อย่าง โรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อวิน วินด์ฟาร์ม 1 และ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ ที่จะเข้ามาในไตรมาส 1 การปิดดีลซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP)ที่เดินเครื่องผลิตแล้วในไทยและมาเลเซีย รวม 700 MW ในช่วงไตรมาสแรกเช่นเดียวกัน