HoonSmart.com>>”ประพล มิลินทจินดา ” บิ๊ก AEC ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ยก AEC เป็นโฮลดิ้งส์ แตกไลน์ลงทุนเสริมรายได้หลักทรัพย์
ในที่สุด ทางออกของ บล.เออีซี (AEC) ก็เลือกปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหม่ อย่างที่คาดไว้ ด้วยการแตกไลน์การลงทุนเพิ่มเติมจากธุรกิจหลักทรัพย์ หันไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการค้าหุ้น ดูเหมือนจะเป็นความตั้งใจจริง และเป็นความหวังครั้งใหม่ของ “ประพล มิลินทจินดา” ผู้ถือหุ้นใหญ่ ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AEC
หลังการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดสำเร็จ บริษัทได้รับเงินจากการเพิ่มทุน 305 ล้านบาทเศษ ส่วนหนึ่งนำไปแก้ปัญหา NCR ให้ได้ตามเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ NCR ขยับขึ้นมาอยู่ระดับ 200 ล้านบาท สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ระดับหนึ่ง
แต่ขณะเดียวกัน ลูกค้าหลักทรัพย์ ที่โบยบินไปตามมาร์เก็ตติ้ง ช่วงการหยุดธุรกรรมซื้อขายชั่วคราว 2 สัปดาห์นั้น ยังไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ นั่นหมายความว่า ต้องเสริมทีมมาร์เก็ตติ้ง เข้ามาเพิ่มครั้งใหม่ ให้ใหญ่กว่าเดิม เพื่อฟื้นฟูธุรกิจหลักทรัพย์ขึ้นมา
เมื่อธุรกรรมด้านหลักทรัพย์ ต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันบริษัทมีเงินจากการเพิ่มทุนแล้ว “ประพล” จึงหาทางลงทุนครั้งใหม่ ด้วยการซื้อหุ้นทั้งหมด 100 % ในบริษัท ไทย สมายล์ บัส (TSB) มูลค่า 120 ล้านบาท บริษัทนี้ทำธุรกิจการขนส่งผู้โดยสาร ด้วยรถประจำทาง เส้นทางกรุงเทพฯ และปริมณฑล 8 เส้นทาง ระยะเวลา 7 ปี จากกรมขนส่งทางบก มีรายได้จากการขายตั๋วรถโดยสารที่วิ่งรับส่ง ซึ่งเป็นรถยนต์ระบบไฟฟ้า มีต้นทุนต่ำ ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 18 % ของการลงทุน และหลัง 7 ปี ขยับขึ้นเป็น 50 % เพราะเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ
รวมทั้งลงทุน ในบริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด (CVN) จากผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วนการลงทุน 9.917% มูลค่าลงทุน 60 ล้านบาท ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าที่เน้นการผลิตแบบนวัตกรรม และเน้นการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงระบบขนส่งสินค้า
….การลงทุนทั้ง 2 รายการ เป็นเงิน 180 ล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ไฟเขียวแล้ว เหลือเพียงขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นเท่านั้น จะ Yes. -No- OK หรือไม่ เพื่ออนาคตยั่งยืนตามที่ “ประพล” ฝันหรือไม่
“ประพล” บอกว่า มีความตั้งใจทำให้ AEC กลับมายืนได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน และตามแผนจะยก AEC เป็นโฮลดิ้งส์ หรือบริษัทที่มีเงินสดเข้าลงทุนในบริษัทอื่น ซึ่งการลงทุนใน ” ไทย สมายล์ บัส ” และ คัฟเวอร์แนนท์ เป็น 1 ในการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้
ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์ ยังเป็นคอลล์ บิซิเนส หรือธุรกิจหลักอยู่ และรอจังหวะพื้นฟู ตั้งใจทำให้ดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน
เมื่อข่าวดีออกมาแล้ว จึงไม่แปลกที่ราคาหุ้นจะตอบรับข่าวดี ด้วยการขายทำกำไรลงมา จนราคาล่าสุด (8 ต.ค.) แตะฟลอร์ 30 % ที่ 0.22 บาท ก่อนจะขยับเล็กน้อยมาปิด 0.23 บาท ลดลง 0.08 บาท หรือ 25.81 % มูลค่าซื้อขาย 64.46 ล้านบาท หากทุกอย่างตามแผนการที่ “ประพล” วางไว้ สำเร็จตามเป้าหมาย ราคาหุ้น AEC คงมีโอกาสได้กลับขึ้นมาผงาดเป็นหุ้นเต็มบาท