๐ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่กลับมาปรับตัวดีขึ้น Biden ได้รับคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นหลังการโต้วาทีรอบแรก อย่างไรก็ดีจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนให้เห็นจากตัวเลข PMI ประเทศหลักฟื้นตัวดีขึ้นและยังอยู่ในแดนขยายตัว และมีความหวังว่าพรรคเดโมแครตและพรรครีพับริกันจะสามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิดฉบับใหม่ได้ แม้ว่าจากอาทิตย์ก่อนหน้าที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาค่อนมากจากความกังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในยุโรป จนทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง ประกอบกับการปรับลงของหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่
๐ WTO อนุมัติให้ EU ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ โดยให้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐมูลค่า 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมุ่งเป้าที่จะปรับภาษีนำเข้ากับอุตสาหกรรมถ่านหิน การเกษตร การประมง เพื่อโต้ตอบที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินอุดหนุนบริษัท Boeing อย่างไม่เป็นธรรมจริง ทำให้ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต
๐ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนก.ย. ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคConference Board ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 15.5 จุด เป็นระดับที่ 101.8 จุด นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 17 ปี จากผลสำรวจการใช้จ่ายด้านการซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือนและรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
๐ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ก.ย. ของยุโรปฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.6 จุด เป็นระดับที่ 91.1 จุด ซึ่งนับเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตมีแนวโน้มดูดีขึ้นประกอบความกังวลต่อการว่างงานที่ลดลง
๐ ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตประเทศหลักอย่างเป็นทางการเดือน ก.ย. ยังอยู่ในแดนขยายตัว โดยดัชนีของ สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.5 จุด มาอยู่ที่ระดับ 55.4 จุด ดัชนีโดย Caixin ปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.1 จุด เป็น 53.0 และขณะที่ดัชนียูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.0 จุด เป็น 53.7 จุด สูงสุดในรอบ 2 ปี จากผลผลิต ยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ยังคงฟื้นตัว และการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
๐ ตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในเดือนส.ค. ปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ที่ระดับ -2.8%YoY เป็นที่ระดับ -1.9%YoY ขณะที่ตัวเลข Industrial Production ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -15.5%YoY สู่ระดับที่ -13.3%YoY เนื่องจากการที่อุปสงค์ของตลาดโลกยังคงอ่อนแอท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19