HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย 7 เดือนแรกปีนี้ สินเชื่อบุคคลหดตัว 3.5% โดยเฉพาะที่ไม่หลักประกันทรุดลง 7.5% คาดทั้งปีนี้หายไป 6% แบงก์เจอหนักสุดถึง -13% นอนแบงก์ยังบวกได้ 0.5% NPLs เพิ่มในกรอบ 3.5-4% ทุกฝ่ายให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ พร้อมจัดแคมเปญแข่งขันด้านราคา
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า สภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างโจทย์ท้าทายให้กับผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล (PLoans) ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ยอดคงค้างสินเชื่อลดลงถึง 3.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันหดตัว 7.5% ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.5-4.0% เทียบกับ 3.5% ณ สิ้นปี 2562 ผลของการปรับโครงสร้างหนี้และการตัดขายหนี้เสีย คาดว่าสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันทั้งระบบ อาจปิดสิ้นปี 2563 ที่ระดับประมาณ -6.0% (พอร์ตของธนาคารพาณิชย์ -13% ส่วนพอร์ตของนอนแบงก์ +0.5%)
ทั้งนี้แม้สินเชื่อ PLoans ที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะยังคงขยายตัวได้ที่ 10.9% แต่สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (ซึ่งมีขนาดพอร์ตใหญ่กว่า) กลับหดตัวลงถึง 7.5% โดยเป็นที่สังเกตว่าทั้งฝั่งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์หดตัวลงพร้อมกัน ซึ่งเป็นภาพที่เห็นไม่บ่อยนัก ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเป็นช่วงหลังวิกฤตซับไพร์มของสหรัฐฯ
ในช่วงปกติในไตรมาสสุดท้ายของปี มักเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีประกัน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานการณ์ในปีนี้อาจดูแตกต่างไปจากปีอื่นๆ เนื่องจากผู้ประกอบการ PLoans ทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ มีโจทย์สำคัญอย่างน้อย 3 โจทย์ในเวลานี้ ได้แก่ การเร่งช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมรับปัญหาคุณภาพสินเชื่อ และการปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้อาจเริ่มเห็นการแก้ไขปัญหาหนี้เสียจากฝั่งนอนแบงก์ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่เกณฑ์ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ส่งผลทำให้ไม่สามารถเร่งตัดขายหนี้เสียในช่วงที่ผ่านมาได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การกลับมาแข่งขันด้านราคา ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สร้างสีสันให้กับแคมเปญสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะการนำเสนอสินเชื่อเงินก้อนดอกเบี้ยปีแรกอยู่ในระดับต่ำประมาณ 9-15% ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด การเปลี่ยนวงเงินในบัตรที่เหลือเป็นสินเชื่อเงินก้อนในอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงประมาณ 10-16% (ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรือช่องทางออนไลน์) ตลอดจนการรีไฟแนนซ์เพื่อเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำลงมาที่ไม่เกิน 22% ตามมาตรการช่วยเหลือฯ อย่างไรก็ดี สภาพการแข่งขันน่าจะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนเพื่อจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ ขณะที่การแข่งขันในกลุ่มลูกค้าที่ฐานเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนน่าจะชะลอลงตามเกณฑ์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่ถดถอยลงตามภาวะเศรษฐกิจ
ปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (PLoans) มีจำนวนบัญชีมากเป็นอันดับที่สองในบรรดาผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยทั้งระบบ โดยมีจำนวนบัญชีคงค้างที่ประมาณ 16.6 ล้านบัญชี เป็นรองบัญชีบัตรเครดิตซึ่งมีอยู่ประมาณ 24.0 ล้านบัญชี แต่หากวัดจากมิติสินเชื่อคงค้าง พบว่า PLoans มียอดคงค้างที่ 5.59 แสนล้านบาท สูงกว่าสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดคงค้าง 3.99 แสนล้านบาทอยู่ประมาณ 1.4 เท่า สาเหตุหลักๆ คงเป็นผลมาจาก PLoans เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่ออเนกประสงค์ที่เปรียบเสมือนเป็นที่พึ่งพายามฉุกเฉินและสามารถตอบสนองความต้องการสภาพคล่องสำหรับครัวเรือน-ประชาชนได้หลายกลุ่ม ขณะที่บัตรเครดิตจะมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกด้านการชำระค่าสินค้าและบริการมากกว่า