SIC ผนึก กฟผ. ขยายโครงข่ายโทรคมนาคม บนเสาสายส่งไฟฟ้า

HoonSmart.com>>สมาร์ท อินฟราเนท  จับมือ กฟผ. ขยายโครงข่ายโทรคมนาคมบนเสาสายส่ง เสริมความแข็งแกร่งโครงการ Fiber Space

สมคิด-ประดิษฐ์เสรี

บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท ( SIC ) บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เอแอลที เทเลคอม ( ALT ) กับ บริษัท ราช กรุ๊ป  ( RATCH )  ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ ว่าด้วยการนำโครงข่ายโทรคมนาคมและพื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมของกฟผ. ที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต มาให้บริการและใช้งานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมของ SIC ให้ครบวงจรภายใต้โครงการ Fiber Space

สำหรับโครงการ Fiber Space พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในการเชื่อมต่อบริการและช่วยยกระดับคุณภาพบริการด้านโทรคมนาคมของประเทศไทย และรองรับความต้องการที่ขยายตัวของภูมิภาคอาเชียน (AEC) อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

โครงข่าย กฟผ. มีจุดเด่นด้านเสถียรภาพสูงสุด เพราะโครงข่ายติดตั้งอยู่บนเสาสายส่งไฟฟ้าแรงดันสูงที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 500,000 กิโลคอร์/ 250 สถานีฐาน จึงทำให้ SIC มีขีดความสามารถและศักยภาพในการให้บริการบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Operators) ในระดับที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

นายสมคิด ประดิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจกฟผ. กล่าวว่า  กฟผ. มีความยินดีในการร่วมกันให้บริการธุรกิจโทรคมนาคม โดยการเชื่อมต่อโครงข่ายหลัก (Backbone) ของกฟผ. ซึ่งปัจจุบันมีศักยภาพในการบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก ในรูปแบบของ Optical Fiber with Overhead Ground Wire (OPGW) บนเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทั่วประเทศ ที่ใช้สื่อสารควบคุมการผลิตและการส่งพลังงานไฟฟ้า โดยนำส่วนที่เหลือจากการใช้งานในภารกิจหลักของ กฟผ. มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Fiber Space เสริมความแข็งแกร่งของโครงข่ายในการให้บริการร่วมกัน  (Telecom Network Sharing ) ช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อนในการสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเสถียรภาพของการสื่อสารในภูมิภาคอาเซียน

ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์

นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด กล่าวว่า ความแข็งแกร่งโครงข่ายของกฟผ. ส่งผลให้โครงการ Fiber Space ของ SIC เป็นโครงข่ายที่ครบวงจรที่สุด ครอบคลุมทั้งโครงข่ายในท่อสื่อสารใต้ดิน, โครงข่ายอากาศบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โครงข่ายบนเสาไฟฟ้าแรงสูงของกฟผ., โครงข่ายบนรถไฟฟ้า, โครงข่ายบนทางด่วน และโครงข่ายตามแนวเสาโทรเลขของการรถไฟแห่งประเทศ และโครงข่ายเชื่อมต่อต่างประเทศ ผลจากโครงการดังกล่าวจะช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อนของแต่ละ Operator อีกทั้งได้ประโยชน์ด้านค่าธรรมเนียม (USO) โดยสามารถนำไปลดหย่อนกับ กสทช. ได้ด้วย

สำหรับ โครงข่ายของ กฟผ. จะสามารถนำมาให้บริการลูกค้าได้ใน 15 กันยายน 2563 และ SIC ตั้งเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 50%

ทั้งนี้ SIC เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง RATCH  ถือหุ้น 51%  และ ALT ถือหุ้น 49 %  ทุนจดทะเบียน 550 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจให้บริการเช่าโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง