HoonSmart.com>> ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ มองเศรษฐกิจดีขึ้น ด้านธนาคารกสิกรไทย มองเงินเยนยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากปัจจัยเสี่ยงในตลาดโลก
ธนาคารกลางญี่ปุน (บีโอเจ) มีมติ 8-1 เสียง ให้คงนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม และมองเศรษฐกิจดีขึ้น โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานบีโอเจ ชี้ว่า เงินเฟ้อคือเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่ามากที่สุดตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคม
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองว่า สัญญาณการผ่อนคลายนโยบายการเงินของบีโอเจไม่แตกต่างจากเดิม ประเมินว่าบีโอเจจะไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะนี้ และเงินเยนยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากปัจจัยเสี่ยงในตลาดโลก
ทั้งนี้ บีโอเจ ประเมินว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัว จากการส่งออกและการผลิตมีสัญญาณดีขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 ขณะที่ความเชื่อมั่นและกำไรภาคธุรกิจยังย่ำแย่ และการลงทุนภาคเอกชนลดลง ทั้งนี้ มองอัตราเงินเฟ้อจะติดลบในระยะนี้ จากราคาน้ำมันที่กดดัน และเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในระยะต่อไป ทั้งนี้ ติดตามการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020
บีโอเจคงดอกเบี้ยนโยบาย โดยดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์
นอกเหนือจากดอกเบี้ย บีโอเจคงปริมาณซื้อสินทรัพย์ทุกชนิด โดยซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ไม่จำกัด ซื้อ ETFs 12 ล้านล้านเยน และซื้อ J-REITs ที่ 1.8 แสนล้านเยน ขณะที่คงปริมาณถือครอง ตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นและยาวไว้ที่ 2 และ 3 ล้านล้านเยน ตามลำดับ โดยกำหนดเพดานปริมาณถือครองตราสารหนี้เอกชนจนถึงสิ้นมีนาคม 2021 ไว้ที่อย่างละ 7.5 ล้านล้านเยน
คุโรดะชี้ เงินเฟ้อคือเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานบีโอเจ แสดงความเห็นว่า เงินเฟ้อคือเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน โดยบีโอเจจะคงเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ต่อไป และจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า เงินเยนยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากปัจจัยเสี่ยงในตลาดโลก สัญญาณการผ่อนคลายนโยบายการเงินของบีโอเจไม่แตกต่างจากเดิม สอดคล้องกับความเห็นของนายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นที่จะสานต่อนโยบายการคลังของนายอาเบะ นายกฯ คนก่อน
นอกจากนี้ประเมินว่า บีโอเจจะคงระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินยาวนานตามภาวะเงินเฟ้อต่ำ เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันโลกที่ลดลง การบริโภคในประเทศที่ยังอ่อนแอจากการระบาดของ COVID-19 และปัจจัยโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ
ในระยะต่อไป ปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศ อาทิ ความเสี่ยง ภูมิรัฐศาสตร์สหรัฐฯ-จีน จะกดดันให้เงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยทรงตัวในระดับแข็งค่า