AAV ฟื้นเร็ว ใกล้โชว์กำไร รัฐอุ้ม “เอเซียพลัส” ชี้เป้า 2.06 บาท

HoonSmart.com>>”เอเชีย เอวิเอชั่น” เผยบริษัทใกล้จะกลับมามีกำไร หลังจากขาดทุนเหลือประมาณ 400 ล้านบาท มองปี 64 ดีขึ้นแน่นอน คาดธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติปี 65  วางกลยุทธ์ครึ่งหลังปี 63 เพิ่มเส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไป 4 จังหวัด เริ่ม 25 ก.ย. นี้ แผนเที่ยวบินข้ามภูมิภาค ลดต้นทุน-ค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง  ส่วนการยื่นขอซอฟท์โลนคาดเห็นผลเดือน ต.ค. นี้ บล.เอเซีย พลัส ตีมูลค่าหุ้น AAV ที่ 2.06 บาท คาดฟื้นตัวเด่นสุดในกลุ่ม  ธุรกิจลดการแข่งขันเห็นเที่ยวบินและจำนวนผู้ใช้บริการสนามบินในประเทศเพิ่มขึ้น  

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เปิดเผยว่า บริษัทกำลังจะมีผลกำไรจากการดำเนินงาน หลังจากธุรกิจการบินเริ่มกลับมาดำเนินงานได้ ขณะนี้มีผลขาดทุนเหลือประมาณ 400 ล้านบาท โดยปี 2564  ภาพฟื้นตัวจะเห็นได้ชัด รวมถึงวัคซีนที่คาดว่าจะสามารถใช้งานได้จริงในช่วงกลางปีหน้า คาดว่าปี 2565 จะสามารถดำเนินงานได้เหมือนปกติก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 บริษัทขาดทุนสุทธิ 1,141 ล้านบาท รวมครึ่งปีขาดทุนสุทธิ 1,813 ล้านบาท

ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง บริษัทได้วางกลยุทธ์เพื่อการเติบโตในอนาคต โดยการเพิ่มเส้นทางการบินในประเทศมากยิ่งขึ้นให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ โดยย้ายเครื่องบินประมาณ 5 ลำ ทำเส้นทางการบินใหม่ จากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยัง 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ,ภูเก็ต ,กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เริ่มวันที่ 25 ก.ย. 63 นี้ รวมถึงแผนการเพิ่มเส้นทางการบินข้ามภูมิภาค อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ไปยังหัวหิน และจังหวัดอุดรธานีไปหัวหิน

“การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ ที่เราทำตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด  เราเวียนพนักงาน ซึ่งทำงาน 1 เดือน และพัก 2-3 เดือน หรือบางคนสมัครใจจะพักยาวก็มี แต่เราไม่มีการปลดพนักงานออกแน่นอน เพราะหากกลับมาบินได้เมื่อสถานการณ์ปกติ เราจะสามารถลดต้นทุนของการเทรนนิ่งและการจ่ายชดเชยเลิกจ้าง ซึ่งมองแล้วไม่คุ้ม และเราได้ให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน ได้ผลดีมาก ทำงานได้เร็วกว่าตอนอยู่ออฟฟิศ ในอนาคตเรามีแผนจะลดขนาดออฟฟิศลง เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น” นายธรรศพลฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการตามนโยบายของภาครัฐเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อเมืองกับเมือง ต่างประเทศกับประเทศไทย ที่ไม่มีการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการแพร่ระบาดในระยะเวลา 30 วัน ซึ่งต้องขอให้รัฐบาลพิจารณาก่อน

นายธรรศพลฐ์กล่าวถึงเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ว่า  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  ได้มีสายการบิน 7 บริษัท ยื่นขอวงเงิน 24,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องการบินภายในประเทศ โดยได้หารือกับคณะรัฐมนตรีในรายละเอียดทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือน ต.ค. นี้ โดยสายการบินได้เสนอทางเลือกในเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน  นำเสนอความสามารถในการสร้างรายได้ของสายการบินค้ำประกัน หรือให้รัฐบาลค้ำประกัน  มีระยะเวลา 5 ปี หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ก็พร้อมจะหาแหล่งเงินกู้อื่น เช่นการเพิ่มทุน หรือการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งมองว่าก็ยังลำบากอยู่

ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า หลังจากรับหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทย ก็จะพิจารณาข้อเสนอจากภาคธุรกิจการบินและหาวิธีการช่วยเหลือเร็วที่สุด

ทั้งนี้ต้องสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศด้วย โดยนายกฯ ขอให้ภาคธุรกิจการบินร่วมมือกันให้มากขึ้น ลดการแข่งขันด้านราคา โดยให้แข่งขันกันด้านบริการ ให้จัดระเบียบการดำเนินงานให้ดี โดยให้คงสภาพการดำเนินงานโดยไม่ให้มีหนี้สินเพิ่ม และไม่ลดการจ้างพนักงาน รัฐบาลจะหามาตรการเสริมต่าง ๆ ช่วยโดยเร็วต่อไป

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง  ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีผลกระทบเรื่องสภาพคล่อง ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนต.ค.นี้ ส่วนการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินนั้น สามารถพิจารณาขยายออกไปถึงเดือนมี.ค. 2565

ส่วนการขอให้คงภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินนั้น จะยังคงไว้ตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติการลดภาษีดังกล่าวถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563

ด้านนายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เที่ยวบินและจำนวนผู้ใช้บริการสนามบินในประเทศเพิ่มขึ้นชัดเจน จากจุดต่ำสุดเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง AAV มีรายได้จากเส้นทางการบินในประเทศประมาณ 60% คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่รวดเร็ว

สำหรับภาพรวมการแข่งขันในประเทศจะลดลง หลังจากบริษัทสายการบินนกแอร์ (NOK)เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ  บริษัทการบินไทย(THAI)น่าจะตัดเส้นทางบินลง บริษัท การบินกรุงเทพ (บางกอกแอร์เวยส์) ปรับลดสัดส่วนธุรกิจการบินลง ส่วนสายการบินที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เริ่มจะลดพนักงาน จึงแนะนำ AAV มองว่ามีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว ที่ราคาเหมาะสม 2.06 บาท

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ราคาหุ้น AAV ปิดที่ 2.02 บาท ลดลง 0.06 บาทหรือ 2.88% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 155 ล้านบาท