HoonSmart.com>>เปิดชื่อผู้ถือหุ้น ETC 10 อันดับแรก แหล่งรวมเสี่ยใหญ่ถือหุ้น “เสี่ยโกมล-เสี่ยยักษ์ -หมอวิน” หุ้นเข้าซื้อขายใน mai วันแรก เปิดที่ 4 บาท สูงกว่า IPO ถึง 54% ปิดที่ 2.72 บาท ชูจุดเด่นเพียบ “เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์” บริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม ลุยประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชน-ขยะอุตสาหกรรม มีโอกาสได้ไม่ต่ำกว่า 50 MW ใกล้สรุปลงทุนโรงไฟฟ้าขยะที่เวียดนาม
บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) แจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้น ประเภท IPO ณ วันที่ 13 ส.ค. 2563 พบนักลงทุนรายใหญ่ อาทิ นายวิชัย วชิรพงศ์ (เสี่ยยักษ์) ถือหุ้น 18 ล้านหุ้น , นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจรายใหญ่ ถือ 29.30 ล้านหุ้น , นายรัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา (หมอวิน) ถือ 25.65 ล้านหุ้น และ เจ๊สีฟ้า (นลินนี แจ่มวุฒิปรีชา) ถือ 10 ล้านหุ้น
ด้านหุ้น ETC เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) วันแรก ( 18 ส.ค. 2563) ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง ราคาเปิดกระโดดที่ 4 บาท เพิ่มขึ้น 1.40 บาท หรือ 53.85% จากราคา IPO หุ้นละ 2.60 บาท ก่อนจะขึ้นไปสูงสุดถึง 4.60 บาท และปิดที่ระดับ 2.72 บาท +0.12 บาท หรือ 4.62% ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 5,952 ล้านบาท
นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) เปิดเผยว่า บริษัทมีความรู้สึกดีใจกับราคาหุ้นที่เปิดเหนือจอง โดย ETC เป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (RDF)
“ ETC มีหุ้นประมาณ 10% หรือ 60 ล้านหุ้น เป็น Greenshoe เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน เนื่องจากสภาวะตลาดยังคงผันผวน จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19” นายเอกรินทร์ กล่าว
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจหลังได้รับเงินเพิ่มทุน โดยนำเงินไปชำระคืนเงินกู้ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเตรียมขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่างๆ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 700 เมกะวัตต์(MW) และ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 44 MW ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้ ตามแผนของสํานักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งบริษัทมีความสามารถในการประมูลโรงไฟฟ้าโรงใหม่เพิ่มไม่ต่ำกว่า 50 เมกะวัตต์ หรือ 4-5 โครงการ
นายเอกรินทร์คาดว่า รายได้ในไตรมาส 3 และ 4จะเติบโตมากกว่าไตรมาส 2 จากอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ปัจจุบันที่ระดับ 6.83 บาท ซึ่งเป็นหน่วยการรับซื้อไฟที่สูง และจากการบริหารและดูแลซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M)ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงมีภาครัฐสนับสนุน สามารถเติบโตตามนโยบายรัฐ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโต อาทิ มีผู้รับซื้อไฟรายเดียว ด้วยราคามาตรฐาน มีเชื้อเพลิงสนับสนุน โดยมีบริษัทในกลุ่มเบตเตอร์เวิร์ล กรีน (BWG) เป็นผู้ส่งเชื้อเพลิง
ขณะเดียวกัน บริษัทยังสนใจในการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเจรจากับพันธมิตรประเทศเวียดนามซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และเซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลง (MOU) ในช่วงต้นปี 2563 ปัจจุบันยังติดเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการร่วมทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในเวียดนาม โดยจะนำรูปแบบโรงไฟฟ้าขยะของบริษัทไปใช้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้