ผู้ว่าฯกฟผ.โชว์วิสัยทัศน์ เดินหน้าพัฒนา “ระบบกักเก็บพลังงาน-สายส่งไฟฟ้าพลังงานหนุนเวียน” ส่งผลดีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ “EA-GPSC”
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยนโยบายการทำงานในฐานะผู้ว่าฯกฟผ.คนที่ 14 โดยระบุว่า กฟผ.มีแผนที่จะพัฒนาโครงการต่างๆเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดให้การผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
“ท่ามกลางความท้าทายในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก กฟผ.จะไม่เดินเพียงลำพัง แต่จะแสวงหาพันธมิตรในการก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับประเทศ เช่นที่ผ่านมา กฟผ.ร่วมกับบริษัท ปตท. (PTT) เพื่อแสวงหาโอกาสในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนในโครงการต่างๆก่อนจะทำการศึกษา EIA และ EHIA”นายวิบูลย์กล่าว
รายงานข่าวระบุว่า นโยบายของกฟผ.ที่จะพัฒนาระบบกักกับพลังงานจะส่งผลดีต่อเอกชน 2 บริษัทที่อยู่ระหว่างลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ คือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่มีโครงการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เฟสแรก กำลังผลิต 2 GWh ต่อปี และขยายเต็มเฟสเป็น 50 GWh ต่อปี และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. จะเปิดโรงงานแบตเตอรี่ กำลังผลิต 200 MWh ในปีหน้า และมีกำลังการผลิตเต็มเฟสที่ 2 GWh ต่อปี
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ จะมีการเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กฟผ. อนุมัติการเปิดประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar Farm) เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 MW เมกะวัตต์ (MW) หากบอร์ดกฟผ.อนุมัติก็จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป