ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด Trade War กระทบส่งออกไทยปีหน้า 1.3 แสนล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมิน “สงครามการค้า” กระทบการส่งออกไทยในปีนี้ 1.38 หมื่นล้านบาท ส่วนปีหน้ากระทบ 1.3 แสนล้านบาท

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2561 ท่ามกลางสงครามการค้าโลก โดยระบุว่า สงครามการค้า (Trade War) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกยืดเยื้อไปอีก 2-4 ปี เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์จะยังไม่ลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง หากยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่เป็นรูปธรรม เช่น ตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐลดลงชัดเจน โรงงานย้ายฐานผลิตไปสหรัฐมากขึ้น และการจ้างงานของสหรัฐเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ส่วนกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบแรก 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่า 280-420 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9,200-13,800 ล้านบาท และผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 4,000-4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.32-1.38 แสนล้านบาท หากสหรัฐเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี และทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การตั้งกำแพงภาษีกีดกันสินค้านำเข้าด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของสหรัฐกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ จะทำให้การค้าโลกหดตัว และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแรงลง โดยผลกระทบต่างๆจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในปีหน้า

นายศิวัศน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่านโยบายก่อสงครามการค้าที่สหรัฐเป็นฝ่ายเริ่มต้นจะเกิดจากเหตุผลทางการเมือง แต่ผลโพลล์ล่าสุดปรากฏว่าคะแนนนิยมของพรรครีพับลิกันตีตื้นขึ้นมา อีกทั้งโพลล์ด้านอื่นชี้ว่าคนในสหรัฐมองว่าเป็นนโยบายที่ถูกทาง ดังนั้น หากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพ.ย.นี้ พรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมาก จะทำให้ทรัมป์เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง

“หากการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย.2561 พรรครีพับลิกันยังได้เสียงข้างมาก และการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพ.ย.2563 ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย จะทำให้สงครามการค้าโลกลากยาวไปอีก 2-4 ปี ซึ่งจะส่งผลให้การค้าโลกเติบช้าลง และเศรษฐกิจโลกทยอยอ่อนแรง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่จะเติบโตลดลง 0.3-0.5% ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยและอาเซียนอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก”นายศิวัศน์กล่าว

กาญจนา (ที่ 1 จากซ้าย) ณัฐพร (ที่ 3 จากซ้าย) เชาว์ (ที่ 4 จากซ้าย) ศิวัสน์ (ที่ 6 จากซ้าย)

นายศิวัศน์ ยังกล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ลากยาวออกไป ยังส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนจีนที่มีความเปราะบางและมีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเหล็ก ที่อาจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องและการผิดนัดชำระหนี้ และสร้างปัญหาให้ระบบเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม จีนจะไม่ยอมให้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการจีนอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปี 2561 น่าจะอยู่ในวงจำกัด โดยมูลค่าการค้าที่ได้รับผลกระทบสุทธิจะอยู่ที่ 280-420 ล้านเหรียญสหรัฐ คือ สินค้าไทยที่ถูกผลกระทบทางตรง ได้แก่ แผงโซลาร์เซลล์ เครื่องซักผ้า เหล็กและอลูมิเนียม มูลค่า 300-500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้าที่ถูกผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกขั้นต้น และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 280-420 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่สินค้าไทยที่จะได้ประโยชน์แทนที่คู่กรณี คิดเป็นมูลค่า 300-500 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ สินค้าที่ส่งไปสหรัฐ คือ ฮาร์ดดิสไดร์ แผงวงจรควบคุม (ICs) ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนสินค้าที่ส่งไปจีน คือ พลาสติกขั้นต้น ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าที่ส่งออกไปยุโรป คือ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์เหล็กบางชนิด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปีหน้า คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4,000-4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบทางตรง คิดเป็นมูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ทั้งจากการเป็นซัพพลายเชน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าที่จะถูกทุ่มตลาดโดยสินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่า 2,300-2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

“มูลค่าส่งออกสินค้าไทยแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในปีหน้าที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 2% ของมูลค่าส่งออกรวม”นายศิวัศน์กล่าว

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สงครามการค้าโลกจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยปีนี้มากนัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโต 8.8% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 4.5% ส่วนการบริโภคจะเติบโต 3.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3% เนื่องจากค่าจ้างเพิ่มขึ้นและรายได้เกษตรกรมีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาครัฐจะเติบโต 8% และทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตที่ 4.5% จากเดิมคาดว่าเติบโต 4%

“การส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง การลงทุนเอกชนที่ดีขึ้น ประกอบกับแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบกลางปี 1 แสนล้านบาท การลงทุนโครงการภาครัฐที่จะเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ผลิตผลการเกษตรที่จะออกมาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเติบโต 4.5% และเศรษฐกิจทั้งปีจะเติบโตที่ 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4%”น.ส.ณัฐพรกล่าว

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯประเมินว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในปีนี้ มีน้ำหนักน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่มาก และกนง.ต้องการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มตามดอกเบี้ยสหรัฐในทันที แม้ว่าตอนนี้ดอกเบี้ยสหรัฐจะสูงกว่าดอกเบี้ยของไทยไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่เพิ่มขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรและตราสารหนี้เอกชนปรับเพิ่มไปแล้ว 0.25% รวมทั้งเริ่มมีการขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยแล้ว

ส่วนค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็นเฉลี่ย 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้เงินบาทอ่อนค่าเพียง 1.3% เมื่อเทียบกับเงินเปโซที่อ่อนค่า 6.6% เงินรูปีที่อ่อนค่า 6.4% เงินเปียห์ที่อ่อนค่า 4.3% เงินวอนที่อ่อนค่า 4% ดอลลาร์ไต้หวันที่อ่อนค่า 2% ดอลลาร์สิงคโปร์ที่อ่อนค่า 2% และเงินหยวนที่อ่อนค่าลง 1.1%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“คลัง” คาดศก.ไตรมาส 2 โตเกิน 4%