HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้ง วิเคราะห์เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ “เอส 11 กรุ๊ป” ความสามารถทำกำไรแจ่ม หนุนฐานทุนแข็งแกร่ง ขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง จุดอ่อนหนี้สูง ส่วน”ฐิติกร”ถูกเปลี่ยนแนวโน้มเรทติ้งเป็น “ลบ” สถานะทางการตลาดในไทยถดถอย-ฐานลูกค้าอ่อนแอ ตามกลยุทธ์เติบโตที่ระมัดระวัง คาดสินเชื่อใหม่จะถึงจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีแรก ธุรกิจต่างประเทศสร้างกำไรในอนาคต จุดแข็งฐานทุนแข็งแรงมากกว่าคู่แข่ง
บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร บริษัท เอส 11 กรุ๊ป หรือ S11 ที่ “BBB-” แนวโน้ม “คงที่”สะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่งจากการสะสมกำไรอย่างต่อเนื่อง สถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัว คาดพอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะเท่าเดิมในปี 63 และจะเติบโตที่ระดับ 5-10% ต่อปีในปี 64-65
บริษัท เอส 11 กรุ๊ปมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง มาจากการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งทริสเชื่อว่ามีความยั่งยืน ณ สิ้นปี 62 บริษัทมีสินเชื่อรวมต่อจำนวนพนักงานคิดเป็น 12.8 ล้านบาทต่อคน เพิ่มขึ้นจาก 12.6 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ น่าจะช่วยให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้น สามารถรองรับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากโรคโควิด-19 และแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยรับที่ลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ในปี 62 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 30.8% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่มากกว่า 50%
ทริสคาดว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการทำกำไรในระดับที่เป็นที่น่าพอใจได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 63 จะลดลง อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เหลือ 4.6% จากโควิด เทียบกับปี 62 อยู่ที่ 8.4% เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 61 ส่วนในปี 64-65 ROA จะดีขึ้นเป็นมากกว่า 7% แต่บริษัทมีข้อจำกัดสำคัญ หนี้เสียสูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาระหนี้ระยะสั้นที่มีจำนวนมาก ณ สิ้นเดือนมี.ค.63 บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้น 65.6% ของเงินกู้ยืมรวม และการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรง อาจทำให้การปรับเพิ่มของอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับเป็นไปได้อย่างจำกัด ในขณะที่สถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังบ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่มีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย
บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าสินเชื่อรวมโตเข้มแข็งอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนมี.ค. 63 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับ 20.6% โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาและอยู่ในระดับ 1.58 เท่า ทริสคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งและภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำไว้ได้
“แม้ว่าบริษัทจะมีหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับสูง แต่ยังคงมีความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องได้ ณ เดือนมี.ค.63 มีส่วนต่างระยะเวลาระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินภายในระยะเวลา 1 ปีที่เป็นบวก บริษัทประมาณการว่ากระแสเงินที่จะได้รับจากการชำระคืนจากลูกหนี้ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 5.4 พันล้านบาท ขณะที่ภาระการชำระคืนหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2.8 พันล้านบาท ยังไม่รวมวงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่สามารถเบิกใช้ได้ประมาณ 2.4 พันล้านบาท”
ทริสฯกังวลคุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างอ่อนแอของบริษัท ณ สิ้นปี 62 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs (สินเชื่อที่ค้างชำระตั้งแต่ 4 งวดขึ้นไป) อยู่ที่ 10.26% ถ้ารวมหนี้สูญตัดบัญชีจะอยู่ที่ระดับ 17.9% การก่อตัวของหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมยังมีสูงขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1/63 เพิ่มขึ้นเป็น 9.01% จาก 7.69% ในปี 62 คาดว่าจะยังคงอ่อนแอต่อไปในปี 63 และปี 64
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำและฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแรงจะยังคงช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรและบริษัทยังคงตั้งสำรองให้อยู่ในระดับที่สูงเพียงพอเพื่อชดเชยกับคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ ณ สิ้นเดือนมี.ค.63 บริษัทมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 121.1% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7-8% ในสถานการณ์ปกติ แต่อาจเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ในปี 63
สำหรับบริษัท ฐิติกร (TK) ทริสฯยืนยันอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A-” โดยเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “ลบ” จาก “คงที่” เพื่อสะท้อนสถานะทางการตลาดที่ถดถอยลงในตลาดหลักภายในประเทศคือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ในขณะที่มีฐานทุนที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง และสภาพคล่องที่ดีของบริษัท
คุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มลดลงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่อาจส่งผลกดดันต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในระยะปานกลางอีกด้วย นอกจากนี้ความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างมีนัยสำคัญของสินเชื่อในประเทศอื่น ๆ มากกว่าประเทศไทยนั้นอาจจะส่งผลในด้านลบหากไม่มีการควบคุมความเสี่ยงให้ดี บริษัทมีการกระจายสินเชื่อทั่วประเทศรวมถึงในกลุ่ม CLMV บางประเทศ เช่น กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และเมียนมา แต่สินเชื่อในประเทศจะยังคงเป็นธุรกิจหลักในระยะยาว
“สถานะทางการตลาดในไทย ค่อย ๆ ถดถอยลง ในปี 62 สินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.2 พันล้านบาท ลดลง 18% จากปีก่อน ณ สิ้นเดือนมี.ค.63 อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท จากแผนกลยุทธ์การเติบโตที่ระมัดระวัง ตามความกังวลในเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ในสภาวะที่เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกหดตัว ทริสคาดว่าสินเชื่อใหม่จะถึงจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีแรก หลังจากนั้นจะค่อย ๆ กลับมาขยายตัวใหม่ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง”
ทริสประเมินฐานทุนแข็งแกร่งมากและเพียงพอสำหรับรองรับต้นทุนทางเครดิตที่ค่อนข้างสูงของลูกค้าที่เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ขณะที่การก่อหนี้ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ วัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 0.72 เท่าในปี 62 ลดลงจาก 1.08 เท่าในปี 61 จากการลดลงของเงินกู้ ทริสคาดว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะฐานทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในระยะปานกลางจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ลดลง แต่การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศจะเป็นตัวเร่งการเติบโต และจะมีบทบาทสำคัญมากช่วยยกระดับความสามารถในการทำกำไรของในอนาคต ทริสคาดว่าสินเชื่อต่างประเทศจะมีสัดส่วน 30-40% ของสินเชื่อรวมในปี 66 จากระดับ 18%ในปี 62 และระดับ 10% ปี 61 แต่ NPLs (สินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 90 วัน) ของบริษัทลูกในต่างประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นในปี 62 มาอยู่ที่ 3% จาก 1% ในปี 61 ทริสอาจจะต้องนำปัจจัยความเสี่ยงของ กัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมามาประกอบในการพิจารณาอันดับเครดิตด้วยหากสัดส่วนของสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สภาพคล่องเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท เชื่อว่าจะดีต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากการมีนโยบายขยายธุรกิจที่ระมัดระวัง ณ สิ้นเดือนมี.ค. 63 บริษัทมีเงินสดอยู่ที่ 941 ล้านบาทจากปี 61 มีเงินสดเฉลี่ยอยู่ราว ๆ 100-200 ล้านบาท บริษัทค่อนข้างมีการพึ่งพาเงินทุนระยะยาวมากกว่าคู่แข่ง บริษัทมีส่วนต่างทางด้านระยะเวลาระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินเป็นบวก ประเมินว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดรับสุทธิจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 200-230 ล้านบาทต่อเดือนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทแม้จะอ่อนแอแต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับของคู่แข่ง กลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหรือพนักงานโรงงานซึ่งอยู่นอกระบบการเงินหรือไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ การที่บริษัทดำเนินกลยุทธ์การเติบโตที่ระมัดระวังจึงทำให้สามารถคงระดับอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับ 9-10% ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเอาไว้ได้ ณ สิ้นเดือนมี.ค.63 สำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ 710 ล้านบาท เกินกว่าสำรองที่กำหนดตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) ทำให้บริษัทมีการกลับรายการสำรองส่วนเกินจำนวน 16 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับ 194% ทริสประมาณการต้นทุนทางเครดิตว่าจะอยู่ที่ระดับ 10-11% ของสินเชื่อรวมในระหว่างปี 63-65