โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ช่วงนี้ เรื่องเกี่ยวกับรถกำลังดัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 กับ คดี “เสี่ยเบนซ์” เมาชนรถ รอง ผกก. จนเสียชีวิต แต่ไม่ทิ้งความรับผิดชอบ ยอมรับผิดตามกฎหมาย ชดใช้ 45 ล้านบาท พร้อมขอดูแลครอบครัวเหยื่อเหมือนลูกหลาน ทั้ง 2 กรณีเป็นเหตุการณ์ชนคนตายเหมือนกัน
แต่ผลที่เกิดขึ้นต่างกันราวขาวกับดำ ผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร ผลทางสังคมเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ๆกันอยู่แล้ว
แต่วันนี้ ขอคุยเรื่องเกี่ยวกับรถ แต่ไม่ใช่เรื่องรถชนคน แต่เป็นเรื่องการจำนำรถ
เรื่องทั้งเรื่องก็คือ พี่สาวของเพื่อนคนหนึ่งไปไฟแนนซ์รถกระบะมาคันนึงที่ราคา 700,000 บาท โดยให้น้องสาวเป็นคนค้ำประกันให้ ปรากฏหลังจากผ่อนไฟแนนซ์แค่ 3 งวด พี่สาวเพื่อนก็เริ่มออกลายทันทีไม่ยอมไปผ่อนต่อ จนไฟแนนซ์ต้องมาทวงถามจากน้องสาวซึ่งเป็นคนค้ำประกัน ตัวน้องถึงเพิ่งรู้ว่า พี่สาวเมื่อได้รถจากไฟแนนซ์แล้ว ก็เอารถไปจำนำต่อทันที ได้เงินมาประมาณ 200,000 บาท เอาไปกินเหล้าหมดแล้ว (ที่ได้น้อย เพราะยอดจำนำรถยนต์ได้ต่ำกว่าราคารถมาก แถมถูกหักค่าทำสัญญา 1,000 บาท ค่าดอก 10% /เดือน ค่าจอด2,000 บาท /เดือน )
ที่พี่สาวเพื่อนทำอย่างนี้ ก็เพราะได้คำแนะนำจากคนรับจำนำว่า รถทุกคันที่ไฟแนนซ์จะต้องซื้อประกันชั้น 1 ทุกคันซึ่งคุ้มครองกรณีรถสูญหายด้วย ดังนั้นเมื่อได้รถจากไฟแนนซ์ ก็เอารถมาจำนำต่อเลย แล้วไปแจ้งไฟแนนซ์ว่ารถถูกขโมยหายไป ก็ไม่ต้องผ่อนต่อ ได้เงินจากไฟแนนซ์ไปใช้ฟรีๆ 200,000 บาท
(ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 กล่าวว่า “ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเอง หรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วง แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ”
พูดง่ายๆก็คือ เมื่อทรัพย์สินเกิดการสูญหายโดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ สัญญาซื้อขายจะถูกระงับลงทันทีเท่ากับว่าการผ่อนค่างวดที่เหลือก็ต้องระงับไปด้วย และในกรณีที่เจ้าของรถทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ประกันรถยนต์ชั้น 2+ และ ประกันรถยนต์ชั้น 2 จะได้รับความคุ้มครองในกรณีรถหายตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยสิ่งที่ต้องทำหลังจากรถหาย ก็คือแจ้งความกับตำรวจ แล้วนำสำเนาการแจ้งความไปให้บริษัทประกันภัยและไฟแนนซ์ ซึ่งทางบริษัทประกันจะเป็นผู้ชำระค่าเสียหายให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์รถ หรือ บริษัทที่คุณทำไฟแนนซ์รถยนต์นั่นเอง)
ฟังดูก็น่าจะเป็นวิธีได้เงินมาใช้แบบง่ายๆ และไฟแนนซ์กับบริษัทประกันก็คงโง่น่าดู ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ ไฟแนนซ์กับบริษัทประกันคงเจ๊งกันไปหมดแล้ว
และก็จริงอย่างที่คิด คนที่โง่กลับไม่ใช่ไฟแนนซ์กับบริษัทประกัน แต่เป็นพี่สาวเพื่อนเองที่โง่โดนคนรับจำนำหลอก เพราะมีคนทำวิธีนี้กันเยอะมาก จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แค่พี่สาวเพื่อนบอกไฟแนนซ์ว่ารถถูกขโมย ไฟแนนซ์ก็รู้ทันทีว่าพี่สาวเพื่อนเอารถไปจำนำเรียบร้อยแล้ว เมื่อพี่สาวเพื่อนถูกไฟแนนซ์ตามทวงหนี้หนักๆเข้า ก็ไปหาคนรับจำนำเพื่อไถ่รถคืน คงเดากันได้นะว่า รถไม่อยู่แล้ว คนรับจำนำเอารถไปไหนก็ไม่รู้ เผลอๆเอาไปชำแหละหรือส่งขายชายแดนไปแล้ว
สรุปสุดท้าย น้องสาวต้องมาภาระจ่ายหนี้แทนพี่สาว เป็นหนี้ร่วมล้านบาท แต่ขายรถไปแค่ 200,000 บาท ส่วนคนรับจำนำก็เท่ากับได้ซื้อรถใหม่มูลค่า 700,000 บาทในราคาไม่ถึง 200,000 บาท
หลายคนอาจจะคิดในใจ ทำไมไม่แจ้งความ เรื่องนี้จะแจ้งความก็แจ้งไม่ได้ เพราะรถเป็นของไฟแนนซ์ไม่ใช่ของพี่สาว ตัวพี่สาว (ผู้กู้) เป็นแค่ผู้ครอบครองเท่านั้น การเอารถที่ไม่ใช่ของตัวเองไปจำนำ ก็คือการยักยอกทรัพย์ดีๆนี่เอง ความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคนรับจำนำก็ผิดในฐานะรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ติดคุกด้วยกันทั้งคู่ .
แต่นอกจากกรณีโดนคนรับจำนำรถหลอกอย่างพี่สาวเพื่อนแล้ว ก็มีกรณีคนที่ร้อนเงิน โดยเฉพาะช่วง Covid อย่างตอนนี้ งานก็หาย รายได้ก็หด แต่ค่าใช้จ่ายไม่หาย ไม่หด ก็จะมองหาที่กู้เงิน
ก็ขอเตือนนะ อย่าเอารถไปจำนำอย่างที่เล่าให้ฟังนะ เพราะมันคือการกู้นอกระบบดีๆนี่เอง ดอกเบี้ยโหดมากประมาณ 10%/เดือน และเสี่ยงเสียรถง่ายมาก ถ้าจำเป็นต้องใช้เงิน ลองใช้วิธี ”ขายดาวน์” ก็น่าจะดีกว่า แต่ต้องระวังกรณี ขายรถให้คนซื้อไป แต่คนซื้อไม่ยอมไปปิดไฟแนนซ์หรือผ่อนต่อ จะไปตามเอารถคืนจากคนซื้อ ก็ไม่รู้จะไปตามกันยังไง เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่รู้จะไปตามเอาที่ไหน คนขายเลยต้องผ่อนไฟแนนซ์ต่อ ทั้งๆที่ขายรถไปแล้ว โดนหลอกไปเต็มๆ สมัยนี้ไว้ใจใครไม่ได้ทั้งนั้นง่ายๆครับ แนะนำให้ติดต่อสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้จะดีกว่า เขามีผู้เชี่ยวชาญอยู่เยอะครับ