ASP ประเมินหากสงครามการค้าขยายวงและมูลค่าการกีดกันทางการค้าโลกสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท จะกดดันหุ้นไทยต่ำกว่า 1,500 จุดปีหน้า พร้อมระบุเงินทุนไหลต่างชาติไหลออกจากไทยต่อเนื่อง คาดได้เห็นบาทอ่อนค่าอีก 4%
นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายวิจัย บล.เอเซียพลัส (ASP) เปิดเผยว่า สงครามการค้าโลกที่ขยายตัวในวงกว้างเป็นระหว่างสหรัฐกับจีน ยุโรป เม็กซิโก และแคนาดา และล่าสุดสหรัฐเตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากก่อนหน้านี้ที่สหรัฐและจีนต่างขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กันไปมาฝ่ายละ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่า การกีดกันทางการค้าทุกๆ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ จะทำให้การค้าโลกหดตัว 9%
ทั้งนี้ การค้าโลกที่หดตัวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกคิดเป็น 70% ของจีดีพี โดยเอเซียพลัสประเมินว่า หากมูลค่าการกีดกันทางการค้าเพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือมากกว่า จะทำให้กำไรตลาดต่อหุ้นในปี 2562 ลดลงเหลือ 92.71 บาทหรือลดลง 20% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่คาดว่ากำไรตลาดต่อหุ้นจะอยู่ที่ 110.72 บาท และเมื่อคูณกับพี/อีตลาดที่ 16 เท่า ดัชนีฯจะอยู่ต่ำกว่า 1,500 จุด หรืออยู่ที่ 1,483 จุดเท่านั้น
“กำไรตลาดต่อหุ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 110.78 บาท คิดเป็นดัชนีฯที่ 1,772 จุด และหากทรัมป์ไม่ท่าที โดยยังเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่เพียงกระทบแค่จีน แต่กระทบผู้ผลิตที่เป็น supply chain ในเอเชีย ซึ่งเป็นลูกค้าส่งออกของไทย โดยเราประเมินว่าจะทำให้กำไรตลาดต่อหุ้นปีหน้าลดลง 20% และดัชนีฯต่ำกว่า 1,500 จุด รวมทั้งกดดันดัชนีฯปีนี้ให้ต่ำกว่า 1,600 จุดได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับท่าทีของทรัมป์”นางภรณีระบุ
สำหรับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอีก 2 ครั้งในปีนี้ และ 3 ครั้งในปีหน้า นางภรณี กล่าวว่า จะยังทำให้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ Fund Flow ยังคงไหลออกเอเชีย โดยตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงปัจจุบันต่างชาติขายหุ้นสุทธิในภูมิภาคเอเชีย 1.93 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหุ้นไทยถูกขายมากที่สุดในกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) โดยมีแรงขาย 1.8 แสนล้านบาท แต่แรงขายน่าจะจำกัด เพราะปัจจุบันการถือครองหุ้นของต่างชาติอยู่ที่ 30.2% ซึ่งต่ำมาก
“ตั้งแต่ต้นปีต่างชาติขายหุ้นไทย 1.8 แสนล้านบาท และน่าจะขายอีก แต่คงไม่มากแล้ว ทั้งนี้ ณ เดือนพ.ค.2561 ต่างชาติถือครองหุ้นไทยในระดับที่ต่ำมากคิดเป็นสัดส่วน 30.20% เป็นการถือครองหุ้นโดยตรง 23.2% ที่เหลือ7.01% ถือผ่าน NVDR และปีที่ต่างชาติขายหุ้นไทยมากที่สุด คือ ปี 2556 ซึ่งปีนั้นต่างชาติขายหุ้นไทยสิทธิ 1.9 แสนล้านบาท ขณะที่ผลกระทบจากเงินทุนไหลออกน่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง 4% หรือแตะ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ”นางภรณีกล่าว
ส่วนกลยุทธ์การลงทุน ASP แนะนำให้ลงทุนในหุ้น Domestic Play โดยกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน แนะนำ TTW ,RATCH และEASTW กลุ่มบริโภคในประเทศ แนะนำ BJC และ DTAC กลุ่มก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ แนะนำ CK ,STEC ,LH ,WHA และAMATA กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แบ่งเป็นกลุ่มธนาคาร แนะนำ BBL และ KBANK ส่วนกลุ่มที่ปลอดภาระหนี้สิน แนะนำ PLANB ,STANLY และ HANA
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายวิจัย ASP กล่าวว่า ตลาดลดความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง หลังมีการกำหนดตุ๊กตาวันเลือกตั้ง 3 วัน แต่ติดตามว่าเมื่อมีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ในช่วงไตรมาส 3 จะมีเหตุการณ์อะไรหรือไม่ โดยภาพรวมในขณะนี้จะเห็นได้ว่าศึกนอกน่าห่วง ในขณะที่ศึกในเพลาๆลงแล้ว
สำหรับหุ้นที่แนะนำ ได้แก่ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากอีอีซี คือ AMATA และ WHA ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเจ้าละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นไร่ เนื่องจากขณะนี้ความต้องการที่ดินในนิคมฯเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถปรับราคาที่ดินได้ด้วย โดยล่าสุด AMATA ปรับราคาขายที่ดินในนิคมฯที่ จ.ชลบุรี เพิ่มเป็น 10 ล้านบาทต่อไร่ จากเดิม 8 ล้านบาทต่อไร่ ขณะที่การเซ็นสัญญากับเอกชนที่ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินน่าจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง
น.ส.อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายวิจัย ASP ระบุว่า ปีนี้ ASP ยังมองว่ากำไรแบงก์จะเติบโต 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่าไตรมาส 2 คาดว่ากำไรแบงก์ 10 แห่งจะเติบโต 2.8% ในขณะที่แบงก์ใหญ่ เช่น SCB จะมีกำไรลดลง 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนครึ่งปีหลังการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และได้ส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี
ส่วนปีหน้า ASP ประเมินว่าแบงก์จะกำไร 9% เพราะภาระการตั้งสำรองหนี้ลดลง แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อดีขึ้น และได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะขาขึ้น ซึ่งหุ้นแบงก์ที่แนะนำ คือ BBL และ TCAP
นายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล ผู้อำนวยการ สายวิจัย ASP กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่เหลือปีนี้คาดว่าจะมีการเปิดประมูลโครงการรัฐ 8 แสนล้านบาท คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 แสนล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 1.2 แสนล้านบาท ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง 3 หมื่นล้านบาท รถไฟความเร็วเส้นกรุงเทพ-นครราชสีมา ช่วงที่ 2 ระยะทาง 11 กิโลเมตร 1.3 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่เฟสสอง 9 โครงการ 3.9 แสนล้านบาท
“ครึ่งปีหลังเรายังมั่นใจว่าจะเปิดประมูลโครงการรัฐ 8 แสนล้านบาท แม้ว่าหลายๆโครงการจะล่าช้า เนื่องจากขั้นตอนการพิจารณาต้องผ่านหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะโครงการในลักษณะภาครัฐร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ซึ่งกว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต้องใช้เวลานาน ส่วนหุ้นแนะนำ ได้แก่ STEC และSEAFCO เนื่องจากมีงานในมือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ STEC ที่คาดว่ากำไรปีนี้จะอยู่ที่ 6,000 ล้านจากปีที่แล้วที่ขาดทุน”นายประสิทธิ์กล่าว
น.ส.นลินรัตน์ กิตติกำพนรัตน์ ผู้อำนวยการ สายวิจัย ASP กล่าวว่า ราคาน้ำมันได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และคาดว่าปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่เฉลี่ย 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ความต้องการน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลง ท่ามกลางซัพพลายส่วนเกินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากกลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อทดแทนน้ำมันดิบจากอิหร่านและเวเนซุเอลา