SCBAM : “ตัวเลขเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น จากแรงหนุนการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ของแต่ละประเทศทั่วโลกและการอัดฉีดสภาพคล่องชองธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกเพื่อหยุงเศรษฐกิจรวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศหลักปรับตัวดีขึ้น เช่น ดัชนี Composite PMI, ตัวเลขยอดค้าปลีก และตัวเลขด้านตลาดแรงงาน ประกอบกับหลายๆ ประเทศเริ่มมีการออกมาประกาศข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ตามความกังวลของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กลับมาอีกครั้งเป็นระลอกสอง (2nd Wave) ยังคงอยู่รวมถึงความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศหลักปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากดัชนี Composite PMI โดยดัชนี Composite PMI อย่างเป็นทางการเดือน มิ.ย. ฟื้นตัวขึ้น นำโดยดัชนีรวมของประเทศสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้น 11.5 จุด สู่ระดับ 56.6 จุด ซึ่งสูงสุดในรอบ 18 เดือน เนื่องจากภาคการผลิตและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ดัชนีรวมของยูโรโซนฟื้นตัวขึ้น 16.6 จุด เป็นระดับ 48.5 จุด ส่วนดัชนีรวม Caixin ของจีนฟื้นตัวขึ้น 1.2 จุด เป็น 55.7 จุด และดัชนีรวมของญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นมากถึง 13.0 จุด เป็น 40.8 จุด จากภาคบริการที่ฟื้นตัวขึ้นแรง

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง โดยสิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 4 ก.ค. ตัวเลขชะลอตัวลงเป็น 1.31 ล้านราย แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่ระดับการชะลอตัวอาจจะลดลงไม่มากเนื่องจากยังทีความไม่แน่นอนสูงหลังรัฐชะลอการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลข Retail Sales พ.ค. ของยุโรปปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขปรับตัวดีขึ้นจากเดิมที่ -19.6 %YoY เป็นระดับ -5.1%YoY ซึ่งเป็นผลมาจากากยอดขายสินค้าพวกเสื้อผ้ารองเท้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ หนังสือ เวชภัณฑ์ และยอดขายเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นมาก

ตัวเลขยอดการสั่งซื้อ Machinery ของญี่ปุ่นเดือน พ.ค. ปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขปรับตัวจากระดับ -12.0%MoM เป็นระดับ 1.7%MoM ซึ่งกลุ่มที่ฟื้นตัวที่แข็งแกร่งที่สุด คือ อุตสาหกรรมขนส่ง โดยตัวเลขยอดการสั่งซื้อปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดปรับขึ้นจากระดับ -61.0%MoM สู่ที่ระดับ 63.5%MoM

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 ลง โดยปรับลดจากระดับ -7.7% เป็น -8.7% เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบรุนแรงแม้ว่าทางรัฐบาลจะมีการผ่อนปรนการ Lockdown แต่การทยอยกลับมาเปิดดำเนินการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังเป็นไปได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้

จับตาการประชุม European Council ในวันที่ 17 – 18 ก.ค. ซึ่งผู้นำทั้ง 27 ประเทศจะพิจารณากองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร โดยหลักจะจัดสรรเงินช่วยเหลือให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างรุนแรง

จับตาการประชุุม BoJ ในวันที่ 21 – 22 ก.ค. คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ -0.1% และจะยังไม่ประกาศมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียนอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCBAEM)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (SCBGIF)