โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
““In this world nothing can be said to be certain, except death and taxes.”
“ในโลกนี้ ทุกสิ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ ยกเว้น ความตายและภาษี”
– Benjamin Franklin –
“6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563พบว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยช่วงเดือน.ต.ค.62-มี.ค.63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 1,143,571 ล้านบาท ตํ่ากว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 17,250 ล้านบาท หรือ 1.5% และตํ่ากว่าเอกสารตามประมาณการงบประมาณ 15,572 ล้านบาท หรือ 1.3% โดยเฉพาะ 3 กรมภาษีคือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 1,164,730 ล้านบาท ตํ่ากว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3,760 ล้านบาท หรือ 0.3% และตํ่ากว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณถึง 36,484 ล้านบาทหรือ 3.0% และหากประมาณการทั้งปี การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษีจะตํ่ากว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณถึง 72,968 ล้านบาท”
เห็นข่าวนี้แล้ว ก็หวั่นใจว่าอนาคตอันใกล้นี้ สรรพากรคงขยันตามเก็บภาษีพวกเรามากขึ้น อยากแนะนำพวกที่ชอบหนีภาษี หรือชะล่าใจว่าสรรพากรตรวจไม่เจอว่า อย่าเสี่ยงดีกว่า เสียภาษีให้ถูกต้องเหอะ และแม้ภาษีจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถบริหารเพื่อให้เสียให้น้อยที่สุดแบบถูกกฎหมายได้ เนื่องจากภาษีเงินได้ไทยคิดจากเงินได้สุทธิ และเป็นอัตราก้าวหน้า คือ ยิ่งเงินได้สุทธิสูงสุดเท่าไหร่ อัตราภาษีจะยิ่งสูงมากเท่านั้น จาก 0% วิ่งขึ้นไปได้ถึง 35% ดังนั้น การวางแผนภาษีจึงเป็นเรื่องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เงินได้สุทธิต่ำให้มากที่สุด
สมการของเงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน ดังนั้นกลยุทธ์การทำให้เงินได้สุทธิต่ำ จึงทำได้ 3 วิธี คือ
1. ลดเงินได้
2. เพิ่มค่าใช้จ่าย
3. เพิ่มค่าลดหย่อน
วิธีที่ง่ายที่สุด คือ เพิ่มค่าลดหย่อน ค่าลดหย่อน คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่สรรพากรให้กับทุกคนเพื่อช่วยให้เสียภาษีน้อยลง แบ่งง่ายๆเป็น
• ค่าลดหย่อนที่ต้องแสวงหาถึงได้ อย่างเช่น การซื้อประกันชีวิต ซื้อ RMF, SSF เป็นต้น
• ค่าลดหย่อนที่อยู่เฉยๆก็ได้มาอย่างเช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนอุปการะบิดามารดา ฯลฯ
ดูๆไปค่าลดหย่อนแบบอยู่เฉยๆก็ได้มาน่าจะดี เพราะไม่ต้องเปลืองแรงเปลืองเงินในการแสวงหา แต่ก็แปลกตรงที่ว่า หลายคนมักจะต้องเสียภาษีเพิ่มก็เพราะใช้ค่าลดหย่อนแบบอยู่เฉยๆก็ได้มานี่แหละ โดยเฉพาะค่าลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนอุปการะบิดามารดา เหตุผลก็เพราะมีเงื่อนไขยุบยับไปหมด ทำให้ใช้ผิดเงื่อนไขกันเยอะ วันนี้เลยขอสรุปเงื่อนไขของค่าลดหย่อนทั้ง 2 ตัว เอากันแบบชัดๆไปเลย
เงื่อนไขยุบยับเลยทำให้ผิดพลาดกันเยอะ แต่เจ้าหน้าที่สรรพากรก็ต้องทำตามหน้าที่ เราคงไม่สามารถอ้างว่าผิดพลาดโดยสุจริตได้ ดังนั้นอย่าผิดเลยจะดีกว่า จะได้ประหยัดภาษีอย่างถูกต้อง