HoonSmart.com>> นอนแบงก์กระแทกลงแรง บล.หยวนต้าแนะนำซื้อ SAWAD คาดผลงานไตรมาส 2 โต ปรับประมาณการกำไรปีนี้ของกลุ่มเพิ่ม 2.1% หากลดเพดานดอกเบี้ย กระทบธุรกิจบัตรเครดิต KTC-AEONTS ส่วน MTC ไม่มีผล ศรีสวัสดิ์ฯโดนเล็กน้อย
ตลาดหุ้นวันที่ 18 มิ.ย. ตามคาด มีแรงขายหุ้นนอนแบงก์ จากความกังวลเรื่องถูกขอลดเพดานดอกเบี้ยทื่คิดจากลูกค้าทั่วไป โดย SAWAD ซื้อขายที่ 56.75 บาท -2.25 บาทหรือ-3.81% MTC อยู่ที่ 53 บาท -0.75 บาทหรือ -1.40 % KTC อยู่ที่ 30.75 บาท -0.25 บาทหรือ -0.81% ขณะที่ตลาดหุ้นโดยรวมดัชนีร่วงลง -13.54 จุด หรือ -0.98% ณ เวลาประมาณ 10.10 น.
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) คงน้ำหนักลงทุนของกลุ่มไฟแนนซ์ “เท่ากับตลาด” แม้ราคาหุ้นปรับขึ้นแรง แต่มองว่ายังมีโอกาสให้ปรับขึ้นต่อ ตามแนวโน้มผลดำเนินงานที่ดูดีกว่ากลุ่มอื่น แนะนำ SAWAD ราคาเป้าหมาย 70 บาท คาดกำไรไตรมาสที่ 2/2563 ยังโตดี ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 จำกัด, NIM กว้างขึ้น และการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง
นอกจากนี้ยังปรับประมาณการกำไรปี 2563 ของกลุ่มเพิ่มขึ้นราว 2.1% (ปรับลดต้นทุนการเงินของ SAWAD และ MTC) ภายใต้ประมาณการใหม่ คาดหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์จะมีกำไรสุทธิในปี 2563 ราว 23,214 ล้านบาท หดตัว 3.5% จากปีที่ผ่านมา
สำหรับหุ้นสินเชื่อที่มีหลักประกันจะยังมีกำไรโตเด่นสุด เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยที่ยังขยายตัวได้ตามพอร์ตสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น NIM คาดจะเริ่มเห็นการปรับขึ้น หลังรับเงินจากซอฟท์โลน (สูงสุด 5,000 ล้านบาท) ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินเพียง 2% น้อยกว่าต้นทุนการเงินของบริษัทที่ 3.8-3.9% ช่วยปิดปัญหาด้านสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในช่วงที่กระแสเงินสดลดลงจากการลดวงเงินผ่อนชำระของลูกหนี้ บวกกับค่าใช้จ่ายตั้งสำรองคาดอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหลังตั้ง Management Overlay ไว้มากในช่วงไตรมาสแรก คาด SAWAD และ MTC จะมีกำไรสุทธิ 4,483 ล้านบาท และ 4,899 ล้านบาท โต 19.3% และ 15.6% ตามลำดับ
ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ปรับลงแรงหลายตัวอาทิ KTC และ SAWAD หลังมีกระแสความกังวลที่ ธปท. อาจมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม อาทิ การลดเพดานดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเพื่อการบริโภคและสินเชื่อส่วนบุคคล และการขยายเวลาพักชำระหนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข่าวอย่างเป็นทางการจาก ธปท. เพื่อยึดหลักอนุรักษ์นิยมในขั้นต้นด้ประเมินผลกระทบจากการปรับลดเพดานดอกเบี้ย 2% (เท่ากับการลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตในปี 2560) ของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน เป็นเวลา 6 เดือน (เริ่มมาตรการ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค.) กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด คือสินเชื่อบัตรเครดิต เนื่องจากปัจจุบันมีการคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนชำระราว 18% เท่ากับเพดานดอกเบี้ยอยู่แล้ว ดังนั้นทุกๆ 1% ที่มีการลดเพดานลง จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับโดยตรง ทำให้ KTC และ AEONTS คาดได้รับผลกระทบมากที่สุด
สินเชื่อที่มีหลักประกันอย่าง SAWAD และ MTC ได้รับผลแตกต่างกัน โดย MTC คาดไม่ได้รับผลกระทบ เพราะคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าเพียง 20-23% ต่ำกว่าเพดานของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันที่ 28% ส่วน SAWAD แม้คิดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถสูงกว่า MTC ที่ 25-28% แต่ SAWAD ดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อกลุ่มที่ High Yield ผ่าน BFIT (เป็นหนึ่งในสถาบันการเงิน) ซึ่งสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 36% ทำให้มีเพดานที่สูงกว่าคู่แข่ง แต่ส่วนที่ยังมีความเสี่ยงคือสินเชื่อที่มีที่ดินและอาคารเป็นหลักประกัน เนื่องจากส่วนใหญ่บริษัทจะคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุด 35-36% เพื่อชดเชยความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงกว่าของหลักประกัน ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบหากมีการลดเพดานดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีพบว่าสินเชื่อดังกล่าวคิดเป็นเพียง 16.9% ของสินเชื่อรวม ทำให้ผลต่อประมาณการกำไรค่อนข้างจำกัด
BAM มีการให้สินเชื่อกับลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการปรับโครงสร้าง โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดอยู่แล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ
บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ให้น้ำหนักหุ้นนอนแบงก์เท่ากับตลาด หากธปท.ประกาศใช้มาตรการลดดอกเบี้ยชั่วคราว ก.ค.-ธ.ค. ส่งผลกระทบของแต่ละบริษัทจะไม่เท่ากัน ทุกๆ 10% ของลูกค้าในพอร์ตสมัครเข้าร่วมโครงการดอกเบี้ยต่ำก็จะทำให้รายได้ลดลง 250 ล้านบาท หรือประมาณ 4% ของกำไรปีนี้ และคิดเป็นประมาณ 3-4% ในกรณีของ KTC และ MTC แต่ SAWAD จะถูกกระทบหนักกว่า จึงมองว่า downside ของอัตราผลตอบแทนสินเชื่อจะมากกว่า MTC ประมาณ 1.5 เท่า
“ความกังวลเรื่องกฎเกณฑ์ของทางการกลับมาอีกครั้ง เกี่ยวกับการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผู้บริโภค หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้ภาพแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจนอนแบงก์โดยรวมเปลี่ยนแปลงไป”บล.เคจีไอระบุ