HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ศึกษาผลกระทบจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ เปิดเฮียริ่งพิจารณาผ่อนเกณฑ์บจ.ขึ้นเครื่องหมาย C หารือเกณฑ์กำไรของบริษัทที่จะยื่นคำขอเข้าตลาด เกรงว่าสถานการณ์ไม่ปกติ กำไรปี 63 ย่ำแย่ หลายบริษัทอาจต้องเลื่อนออกไป IPO สะดุดในปี 64
แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังศึกษาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และรัฐมีคำสั่งล็อกดาวน์มาตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.2563ที่ผ่านมา ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) และบริษัทที่เตรียมตัวจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถดถอย จากภาวะเศรษฐกิจหดตัว บางธุรกิจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ไม่มีรายได้เข้าบริษัท หลายรายประสบปัญหาขาดทุน จนอาจจะทำให้มีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์เครื่องหมาย C ( Caution) ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่ใช่ความผิดพลาดของบริษัท จึงมีการสำรวจความคิดเห็น(เฮียริ่ง) กับผู้ที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะผ่อนปรนเกณฑ์นี้หรือไม่
ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 31 บริษัท ขอเลื่อนการส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1/2563 ส่วนหนึ่งเกรงว่าหากเปิดผลประกอบการออกมาแล้วจะเข้าหลักเกณฑ์ C เรื่องส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว โดย 1ใน 31 บริษัทที่ขอเลื่อนส่งงบการเงิน คือบริษัทการบินไทย(THAI) แต่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C ไปเรียบร้อยแล้ว มีผลวันที่ 29 พ.ค.2563 เป็นต้นไป เพราะเข้าหลักเกณฑ์ บริษัท หรือเจ้าหนี้หรือหน่วยงานกำกับดูแลยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท และศาลรับคำร้องไว้แล้ว ซึ่งนักลงทุนจะต้องใช้เงินสด 100% ในการซื้อหุ้น(แคชบาลานซ์) เครื่องหมาย C เป็นการเตือนของตลาดให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนหุ้นที่มีฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจไม่ดี
นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์กำลังหารือ เพื่อพิจารณาผ่อนปรนหลักเกณฑ์เรื่องกำไรของบริษัทที่จะยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) ที่มีหลักเกณฑ์กำหนดว่า ในปีล่าสุดก่อนยื่นคำขอจะต้องมีกำไรสุทธิมากกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านบาท สถานการณ์แบบนี้อาจจะทำไม่ได้ หากยังคงใช้เกณฑ์เดิม อาจจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เตรียมจะยื่นคำขอในปี 2564 เพราะใช้กำไรของปี 2563 คงจะมีบริษัทหลายแห่งอาจต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2565 หรือปีต่อๆไป ทำให้แผนการดำเนินงานต้องเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมคาดว่าจะระดมทุน จากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก(IPO)ได้ ก็อาจจะต้องหาแหล่งเงินทุนอื่น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องเลื่อนแผนลงทุนออกไป
อย่างไรก็ตามบริษัทที่ยื่นคำขอในปี 2563 คงไม่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์ในเรื่องเกณฑ์ผลการดำเนินงาน เพราะใช้กำไรของปี 2562 ดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมปกติ แต่จะมีผลต่อการกำหนดราคาขายหุ้น และความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะกำไรในปี 2563 คงจะไม่ดีนัก ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์เมื่อได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์แล้ว จะต้องเสนอเรื่องให้ก.ล.ต.อนุมัติด้วย
สำหรับ IPO ในปี 2563 จะมีบริษัทขนาดใหญ่เข้าจดทะเบียนจำนวนมาก เช่น บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) โฮลดิ้งที่มีธุรกิจหลักในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ซึ่งได้รับอนุมัติจากก.ล.ต.ในการเสนอขายหุ้นจำนวน 1,194.8 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.7% ของทุนชำระแล้ว และอาจมีหุ้นส่วนเกินอีก 179.2 ล้านหุ้น แต่ยังไม่รีบขายหุ้น ผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ขอรอดูจังหวะตลาดก่อน และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จะเสนอขาย IPO จำนวน 3,000 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของทุนชำระแล้ว เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของก.ล.ต.