SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 25-29 พ.ค. 2563
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศเริ่มดำเนินการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown และมีแผนการที่จะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ประกอบกับราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นแรงกว่า 23% หลังอุปสงค์น้ำมันเริ่มกลับมาดีขึ้นจากการผ่อนปรมมาตรการ Lockdown ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่อง อย่างไรตามตลาดหุ้นในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เนื่องจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เห็นชอบร่างกฎหมายที่อาจนำไปสู่การเพิกถอนบริษัทสัญชาติจีนอย่าง Alibaba และ Baidu ออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ทั้ง NASDAQ และ NYSE เป็นผลมาจากปธน. Donald Trump อ้างว่าเป็นความผิดของจีนที่เป็นต้นตอการแพร่การระบาดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก จึงเป็นปัจจัยตอกย้ำความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เพิ่มขึ้น
ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. ของสหรัฐฯ หดตัว -16.4% MoM และ -11.2% MoM ตามลำดับ นับเป็นการหดตัวมากสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 แบบเต็มเดือนส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก แม้มลรัฐต่างๆ จะเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แต่ความกังวลต่อการระบาดรอบสองของ COVID-19 ทำให้จำนวนผู้ว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูงมาก และยังคงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และภาคธุรกิจอยู่ เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการตามปกติได้อย่างเต็มที่ เป็นปัจจัยกดดันยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมให้อ่อนแอต่อไป
GDP ไตรมาส 1 ของเยอรมนี หดตัว -2.2% QoQ ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี เท่ากับที่ตลาดคาด และเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวต่ำกว่ายูโรโซน (-3.8% QoQ) ขณะที่ประเทศหลักอื่นๆในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน หดตัวสูงกว่ามาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ -5.0% QoQ เนื่องจากเยอรมนีเริ่มใช้มาตรการ Lockdown ในวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม อีกทั้งกับเศรษฐกิจเยอรมนีเน้นภาคการผลิตและส่งออก มากกว่าภาคการบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยตรง
GDP ไตรมาส 1 ของญี่ปุ่น หดตัว -3.4% QoQ ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ -4.5% QoQ โดยนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค หลังรัฐบาลประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศในวันที่ 16 เม.ย. ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดทำการชั่วคราว ประกอบกับอุปสงค์โลกที่หดตัวแรงเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตและส่งออก ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินใน 39 จังหวัด คงเหลือไว้เพียง 8 จังหวัดเท่านั้น ประกอบด้วย Chiba, Hokkaido, Hyogo, Kanagawa, Kyoto, Osaka, Saitama, และ Tokyo
กนง. มีมติ 4:3 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25bps. เป็น 0.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวและอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าที่ กนง. ประเมินไว้ อีกทั้งกนง.ยังส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในการประชุมเดือน มิ.ย. โดยปัจจุบัน ธปท. คาดว่า GDP และเงินเฟ้อในปีนี้จะหดตัว -5.3% และ -1.0% ตามลำดับ
สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง สะท้อนปัญหาอุปทานล้นตลาดเริ่มบรรเทาลง จากทั้งด้าน Supply และ Demand โดยในด้าน Supply ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่องราว 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากจุดสูงสุดที่ 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ล่าสุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2018 ขณะที่ด้าน Demand อยู่ในแนวโน้มฟื้นตัว จาก US gasoline demand เพิ่มขึ้น ตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
กลยุทธ์การลงทุน
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA)
“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลสตราทีจิก อินเวสเมนท์ (SCBGSIF)