ถ้าไม่มีข่าว “โบรกเกอร์โอดต่างชาติ ทำ Naked Short ถล่มหุ้นไทย ร้อง ตลท. ตรวจสอบ” นักลงทุนรายย่อยอย่างเราก็คงไม่ได้รู้จักคำว่า “Naked Short”
แต่ตอนนี้ถ้าไม่ทำความรู้จักกับ Naked Short คงไม่ได้แล้ว เพราะเดี๋ยวจะ “คุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง”
การขายชอร์ต หรือ Short Sell คือ การขายหุ้น ทั้งๆ ที่คนขายไม่มีหุ้นนั้นอยู่ในมือ แต่ไปยืมหุ้นของคนอื่นมาขายไปก่อน เช่น ยืมจากบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) หรือ ผู้ให้บริการยืมหุ้น โดยผู้ขายชอร์ตจะต้องวางเงินประกัน (Margin) ไว้กับบริษัทผู้ให้ยืมหุ้น และเมื่อถึงกำหนดจึงซื้อหุ้นมาส่งมอบคืน หรือ จะส่งมอบก่อนครบกำหนดก็ได้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยให้ข้อมูลไว้ว่า “โดยทั่วไปการทำ Short Sellสามารถแบ่งออกตามลักษณะของการทำได้เป็น 2 ประเภท คือ covered short และ naked short”
covered short คือ การทำ Short Sell ที่ผู้ขายหุ้น ยืมหุ้นมาแล้วก่อนที่จะสั่งขายหุ้น (อาจจะเป็นการทำสัญญายืมหุ้นกับโบรกเกอร์ไว้) เพื่อที่จะนำมาส่งมอบให้กับผู้ซื้อหุ้น
naked short คือ การทำ Short Sell ที่ผู้ขายไม่ได้มีการยืมหุ้นมาไว้ก่อนในวันที่สั่งขายหุ้น ทำให้ในวันส่งมอบอาจมีความเสี่ยงที่ผู้ขายไม่สามารถส่งมอบหุ้นให้กับผู้ซื้อได้ (เรียกว่า “fail-to-deliver”)
“โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ทำธุรกรรม naked short มักเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้น (market maker) ซึ่งหุ้นที่ market maker จะทำชอร์ตเซลนั้นมักเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อย”
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศอนุญาตให้ทําชอร์ตเซลได้เฉพาะประเภท covered short เท่านั้น (รวมถึงประเทศไทย) เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงต่อ การ “fail-to-deliver” มากเท่ากับการทําชอร์ตเซลแบบ naked short
เว็บไซต์ investopedia ระบุว่า หลังจากวิกฤตการเงิน ปี 2551 ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา ประกาศห้ามทำ Naked Short ขณะที่ข้อมูลจาก wikipedia.org ระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศมีการควบคุมการทำ Naked Short
สำหรับประเทศไทย หลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ ต้องเป็น…
(1) หุ้นสามัญที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีหลักทรัพย์ SET100 Index
(2) หุ้นสามัญที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) เฉลี่ยในระยะเวลา 3 เดือน
ตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และมีการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้ว
(3) หลักทรัพย์ที่โบรกเกอร์ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง
(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ หรือหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีอ้างอิงหรือหลักทรัพย์อ้างอิงของกองทุนรวมอีทีเอฟ
(5) หน่วยของอีทีเอฟตามข้อกำหนดตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วย การรับและเพิกถอนหน่วยของอีทีเอฟ และการเปิดเผยสารสนเทศของอีทีเอฟต่างประเทศ
(6) หุ้นสามัญที่เป็นสินทรัพย์อ้างอิงของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามข้อกำหนดตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วย การรับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
(7) หุ้นสามัญที่เป็นสินค้าอ้างอิงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Single Stock Futures ตามข้อกำหนดของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า”
อ่านประกอบ
https://hoonsmart.com/archives/11374