HoonSmart.com>> บล.บัวหลวง รับสภาพขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน เป็น 31 พ.ค.63 กระทบธุรกิจทั้งหมด คนวงการหุ้นผิดหวัง กว่าบจ.จะฟื้นตัวต้องรอไปปีหน้า “ดี.ที. ซี.อินดัสตรี่ส์” รับมือไม่ไหว ประกาศปิดกิจการชั่วคราว AOT ประเมินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบิน-สายการบินกระทบรายได้ราว 17% ฟิทช์เรทติ้ง ปรับลดแนวโน้มเครดิต ฟินันซ่า-บล.ฟินันเซียไซรัส -บล.เคทีบี เป็น”ลบ” คงอันดับเครดิต เอเซียพลัส ส่วนบล.ไทยพาณิชย์ ประเมินดัชนีฟื้นตัวเร็วฉุดผลตอบแทนไตรมาส 2 เริ่มจำกัด แนะ Defensive เชียร์ BDMS-BEM-BTS-CPF-MINT
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการอำนวยการ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (สมาคมบล.) เปิดเผยว่า การขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน จากสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. เป็นวันที่ 31 พ.ค. 2563 เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้พิจารณาความเหมาะสมจากสถิติข้อมูลทางการแพทย์แล้ว เพื่อลดการแพร่ระบาดและติดเชื้อ ซึ่งการขยายเวลา ส่งผลกระทบกับธุรกิจทั้งหมด
“ เราต้องยอมรับว่าโลก กำลังรบกับสิ่งที่มองไม่เห็น รบกับเชื้อโรค การขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีข้อดี ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โรงแรม แต่อาหารดี สื่อสารดี ทั้งปีนี้ ไม่ต้องสนใจหรือคิดมากกับเศรษฐกิจ “
นายพิเชษฐ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บล.บัวหลวง ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home ) ตามนโยบายรัฐบาล และคิดว่าจะคงนโยบายนี้ต่อ เนื่องจากธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยี มีความพร้อมของเครื่องมือ ได้รับความสะดวกในการทำงาน
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน(บจ.) กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)มีมติขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน หรือวันที่ 1-31 พ.ค.2563 แม้ว่าจะพิจารณาผ่อนคลายปลดล็อกดาวน์บางธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ร้านค้าขนาดเล็ก ตลาดนัดทั่วประเทศก็ตาม หากที่ประชุมครม.วันที่ 28 เม.ย. เห็นชอบตามข้อเสนอนี้ รวมถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะคลี่คลายได้เมื่อไหร่ ทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมเลื่อนการฟื้นตัวออกไป กว่าจะตั้งตัวได้อาจจะต้องรอไปปี 2564 จึงไม่แน่ใจว่า ไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของผลประกอบการในปีนี้หรือไม่
ปัจจุบันบจ.ได้รับผลกระทบจากโควิดมากขึ้น จากที่ผ่านมา ธุรกิจท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และการบิน หยุดการให้บริการเกือบทั้งหมด ขณะนี้เริ่มขยายเข้าสู่อุตสาหกรรม บริษัท ดี.ที.ซี.อินดัสตรี่ส์ (DCTI) ผู้ผลิตและจำหน่ายปากกา ได้แจ้งปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2563 เป็นต้นไป จะเปิดดำเนินการต่อไปเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เพราะได้รับผลกระทบอย่างมาก คือไม่มีรายการสั่งซื้อจากลูกค้าที่เคยสั่งซื้อ และทางบริษัทไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นร้านค้าต่างๆ ล้วนต้องปิดร้านตามคำสั่งของภาครัฐ และยังไม่อาจทราบได้ว่าจะกลับมาเปิดดำเนินการได้เมื่อไหร่
บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ณ ท่าอากาศยาน ประเมินเบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทในปีงบประมาณ 2563 คาดว่ารายได้จะลดลงประมาณ 17% ของรายได้ในปีงบประมาณ 2562 นอกจากนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลการประกอบกิจการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ทราบประมาณการรายได้ที่แน่นอน รวมทั้งจะดำเนินการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การปรับลดค่าใช้จ่ายการเจรจากับกรมธนารักษ์ เพื่อขอปรับลดค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ รวมทั้งการพิจารณาหารายได้ด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างดีที่สุด
ขณะเดียวกันบจ.ยังได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ และถูกปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตล่าสุด บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) และ บล. เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เป็น “ลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทที่ ‘BBB+(tha)’ และ ‘BB(tha)’ ตามลำดับ สะท้อนถึงภาวะการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของไวรัสที่มีผลต่อเศรษฐกิจ เพิ่มความเสี่ยงต่อบริษัทหลักทรัพย์ที่มีผลกำไรจากการดำเนินงานที่อ่อนแออยู่แล้วและมีโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ผลประกอบการของบริษัทอาจได้รับผลกระทบต่อรายได้นายหน้าค้าหลักทรัพย์และธุรกิจวานิชธนกิจด้วย
นอกจากนี้ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัท ฟินันซ่า (FNS) เป็นลบ จาก มีเสถียรภาพและคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ FNS ที่ ‘BBB-(tha)’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F3(tha)’
อย่างไรก็ตามได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในวันที่ 23 มี.ค.2563 ดัชนีที่ระดับ 1,024.46 จุด เดือน เม.ย.เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว 13% และฟื้นตัวสูงถึง 24% จากจุดต่ำสุด ถือว่าฟื้นตัวที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตในช่วงที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ หลังจากที่เคยปรับตัวลดลงแรงถึง 33% จากจุดสูงสุดช่วงกลางเดือนม.ค.2563 เนื่องจากระดับความเสี่ยงโดยภาพรวมทั่วโลกลดลง แม้การระบาดจะยังไม่จบ รวมถึงความเสี่ยงต่อเนื่องที่อาจจะตามมาได้อีก เช่น ที่เกิดขึ้นในตลาดน้ำมันดิบยังคงมีโอกาสกระทบบรรยากาศการลงทุนต่อไป แต่มีโอกาสน้อยลงจึงเชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไปแล้ว
“การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะเกิดขึ้นเร็วและแรงเกินไป ทําให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดหวัง ถ้าการกลับมาดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องเลื่อนออกไป นักลงทุนควรเน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ กลยุทธ์ยังคงแนะนำให้เลือกซื้อหุ้น defensive และคุณภาพสูง หุ้น top picks ที่เคยแนะนำไว้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 คือ BDMS, BEM, BTS, CPF และ MINT แม้ราคาหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก เนื่องจากการดำเนินงานมีแนวโน้มที่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในอนาคตอันใกล้นี้ บล.ไทยพาณิชย์มีมุมมองระมัดระวังต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และมีความกังวลต่อกลุ่มธนาคาร เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านกำไรในอนาคตสูง ล่าสุดคาดว่า กำไรสุทธิต่อหุ้น ปี 2563 ลดลง 22% เมื่อเทียบปีก่อน โดยหลักๆ เกิดจากยอดขายที่หดตัวลง 16% “นายสุกิจกล่าว
บล.ไทยพาณิชย์คาดว่ากำไรต่อหุ้นของตลาดปี 2564 จะเติบโต 25% จากฐานตํ่าในปี 2563 แต่ในแง่มูลค่าของกําไรสุทธิอาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับปี 2562 จนกว่าจะถึงปี 2565 สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ ของบางธุรกิจ เช่น ธนาคาร อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และ ท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี ยังคงต้องประเมินทิศทางของราคาน้ำมันดิบต่อไป
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า มองโอกาสหุ้นจะปรับตัวขึ้นเริ่มมีจำกัด ราคาหุ้นเริ่มตึงตัว จาก Forward P/E ที่มากกว่า 15 เท่า ซึ่งไม่สมเหตุสมผลกับความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ และเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลออก แม้ว่าอาจจะไหลกลับเข้ามาช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม ซึ่กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้มองว่ายังไม่ใช่จังหวะในการเข้าลงทุน แนะนำรอดัชนีหุ้นปรับลดลงมาต่ำกว่า 1,200 จุด รอเข้าซื้อหุ้นที่ปลอดภัย มีฐานการเงินที่แกร่ง และจ่ายปันผลดีสม่ำเสมอ แนะนำหุ้น CPALL สำหรับเทรนการเปิดเมืองบางจังหวัดเท่านั้น สำหรับกลุ่มห้างสรรพสินค้า โรงแรม และสายการบิน มองว่าเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบทำให้กำไรทั้งปีไม่สวย แนะนำ HMPRO และ BJC