ความจริงความคิด : สรุปมาตรการภาษีเยียวยา covid19 ที่สรรพากรช่วย

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ช่วงนี้ไม่รู้จะคุยเกี่ยวกับเรื่องอะไรดี เพราะรอบตัวดูๆเงียบเหงาไปหมด อยู่บ้านช่วยชาติอย่างเดียว ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเลย แต่ถึงอยู่บ้าน ก็มีคนสอบถามเกี่ยวกับเรื่อง Covid19 อยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ถามเรื่องกฎหมายแรงงาน ประกันสังคม และก็เรื่องภาษี แต่ไม่มีใครถามถึงเรื่องปัญหาสุขภาพหรือการรักษา Covid เลย (สงสัยคงรู้ว่าเภสัชกรคนนี้คืนความรู้อาจารย์ไปหมดแล้ว) ที่ผ่านก็คุยเรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และประกันสังคมไปแล้ว งั้นครั้งนี้ มาคุยเรื่องมาตรการภาษีที่สรรพากรออกมาเพื่อเยียวยาพวกเรากันดีกว่า เพราะเห็นมีออกมาเยอะไปหมด เรามาดูนะว่ามีอะไรบ้าง

มาตรการสำหรับบุคคลธรรมดา

1.มาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนและตลาดทุน โดยให้ลดหย่อนภาษีเพิ่ม 2 แสนบาทสำหรับเงินที่ลงทุนในกองทุนเพื่อการออม (SSF) แยกจากวงเงินของกองทุน SSF ปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานเงินสะสมเพื่อการเกษียณอายุ ทั้งนี้ การลดหย่อนภาษีส่วนที่เพิ่มเติมนี้ ต้องเป็นการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยถือครองหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี(นับวันชนวัน) โดยจะลงทุนได้ในช่วง 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 นี้เท่านั้น

2.มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทำหน้าที่เฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม รักษา ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สืบสวนโรค พนักงานขับรถส่งผู้ป่วย รวมทั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น โดยเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขในปีภาษี2563 (ปัจจุบันอยู่ที่ผลัดละ 1,000 – 1,500 บาทต่อคน โดยกำหนดให้ผลัดละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง)

3.มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมที่สามารถหักลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เริ่มตั้งแต่ปีภาษี2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล สุขภาพลดลง

4.มาตรการเลื่อนเวลายื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2562 จากสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2563 เป็นสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 และต่อมาสรรพากรได้เลื่อนเวลาการยื่นแบบฯ เพิ่มเติมอีก 2 เดือน จากสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2563 เป็น 31 สิงหาคม 2563

มาตรการสำหรับนิติบุคคล

1.มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่าย SME ที่เข้าร่วมมาตรการ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาล หักรายจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม 1.5 เท่าสำหรับดอกเบี้ยจ่ายในช่วงเมษายน-ธันวาคม 2563 ในกรณีที่ SME ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

– มีรายได้ครบ 12 เดือน ไม่เกิน 500 ล้านบาท
– จำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน
– มีรอบบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2563
– จัดทำบัญชีเดียว

2.มาตรการสนับสนุนให้ SME จ้างงานต่อเนื่อง โดยสามารถนำรายจ่ายค่าจ้างพนักงานมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค.2563 ในกรณีที่ SME ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

– มีรายได้ครบ 12 เดือน ไม่เกิน 500 ล้านบาท
– จำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน
– มีรอบบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2563
– คงการจ้างงานของลูกจ้างที่ประกันตนและมีค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท ต่อคนต่อเดือน
– จำนวนลูกจ้างต้องไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้าง ณ วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562

3.มาตรการเพิ่มสภาพคล่องผู้ส่งออกที่ดี (ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.490/2562 เรื่องเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการผู้ส่งออกที่ดี และผู้ประกอบการส่งออกขึ้นทะเบียน) โดยผู้ส่งออกที่ดีที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท หรือ บริษัท มหาชน จะได้รับคืน VAT เร็วกว่าปกติ ซึ่งระยะเวลาในการคืนภาษี จะขึ้นอยู่กับวิธีการยื่นแบบ

• ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต คืน VAT ภายใน 15 วัน จากเดิม 30 วัน
• ยื่นผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา คืน VAT ภายใน 45 วัน จากเดิม 60 วัน

4.มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเลื่อนการยื่นแบบ ดังนี้

a.รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท
b.รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท

5.มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลา การยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทของเดือนมีนาคม และ เมษายน 2563 ที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น

มาตรการสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

1.มาตรการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงิน (ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น) ช่วยโควิด-19 ผ่านทาง e-Donation เท่านั้น สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลักหักค่าใช้จ่าย ขณะที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินช่วยโควิด-19 สามารถหักรายจ่ายได้ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ และ ผู้ประกอบการ VAT ที่บริจาคทรัพย์สินช่วยโควิด-19 จะได้รับยกเว้น VAT ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.2563-5 มี.ค.2564

2.มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ (ยกเว้นมูลนิธิหรือสมาคม) และบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้จากค่าจ้างทำของ ค่าบริการ นายหน้า ค่าวิชาชีพอิสระ โดยมีอัตราการลดอยู่ 2 เฟส ได้แก่

เฟสแรก ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายเหลือ 1.5% ในกรณีที่มีรายได้ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2563 โดยผู้ประกอบการและบุคคลธรรมดาสามารถจ่ายด้วยวิธีการใดก็ได้
เฟสสอง ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายเหลือ 2% ในกรณีที่มีรายได้ระหว่างเดือนตุลาคม 2563-ธันวาคม 2564 โดยผู้ประกอบการและบุคคลธรรมดาจ่ายผ่าน e-Withholding Tax เท่านั้น

3.มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยเร่งให้การปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สามารถ ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น สามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการแล้วประกอบอาชีพ และธุรกิจต่อไปได้

ส่วนทางด้านเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมจะมีต้นทุนลดลงและสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ เพิ่มเติมได้ ได้แก่ เจ้าหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยเพื่อการ ประกอบอาชีพ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด เช่าซื้อ ลีสซิ่ง และเจ้าหนี้อื่นที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับ สถาบันการเงิน โดย

– ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับ เงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้

– ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือ การให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

– ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่จำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว โดยลูกหนี้ต้องนำเงินนั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระหรือมีภาระผูกพันตาม สัญญาประกันหนี้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

– ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ และลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนอง อสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด ซึ่งกรมที่ดินจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ร้อยละ 0.01 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564