HoonSmart.com>>เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ มั่นใจรักษาภาพรวมการดำเนินธุรกิจไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่ในระดับน่าพอใจ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เดินหน้านำเสนอบริการและโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า มั่นใจฐานะการเงินในปัจจุบันยังแข็งแกร่ง
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจในการรักษาภาพรวมการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 อยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ในหลายประเทศ ตลอดจนได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์และเริ่มส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ
สำหรับภาพรวมการดำเนินของ JWD ในเดือนม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา ธุรกิจรับขนส่งในประเทศและขนส่งสินค้าข้ามแดนทั้งทางรถและทางราง ยังคงมีลูกค้าใช้บริการและอัตราการเช่าพื้นที่ในระดับที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางราง ยกเว้นธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตราย และธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์ ที่มีลูกค้าบางส่วนได้รับผลกระทบการใช้บริการลดลงบ้าง ขณะที่ธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นเริ่มมีการเบิกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งออกจากคลังเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะมีปัจจัยมาจากความต้องการกักตุนอาหารเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามอัตราการเช่าพื้นที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี
ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวบริษัทฯ ได้รุกนำเสนอบริการและโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าและช่วยลูกค้าแก้ไขปัญหา Pain Point เช่น การนำเสนอบริการใหม่ขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนพิเศษ (Cold Chain Express), บริการจัดส่งสินค้าเวชภัณฑ์, การให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากไทย-กัมพูชา-เวียดนาม, การนำเสนอโซลูชั่นให้ลูกค้ากระจายพื้นที่จัดเก็บสินค้าเพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจหากรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานด้าน Business Continuity Plan (BCP) เพื่อจัดทำแผนงานปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ โดยปัจจุบันเริ่มให้พนักงานบางส่วนปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from home) และใช้เทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาเพิ่มประสิทธภาพการทำงาน ตลอดจนให้ความสำคัญด้านความสะอาดปลอดภัยในการขนส่งและจัดเก็บสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อให้ความมั่นใจแก่ลูกค้า
“จากสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เรามองว่าการให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างช้า เนื่องจากการขนส่งสินค้ายังมีความจำเป็นในทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อ จะมุ่งเน้นการบริหารกระแสเงินสด (Cash flow) ทั้งในส่วนรายรับและรายจ่าย นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้เบิกใช้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง จึงมั่นใจว่าฐานะการเงินของบริษัทฯ ในปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่ง” นายชวนินทร์ กล่าว