โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
วิกฤต covid ทำเอาเรื่องที่ไม่เคยคิดว่าจะเจอในชีวิตก็ได้เจอ อย่างเช่น การที่ต้องอยู่ในบ้านเป็นเดือนๆ การเดินทางในประเทศ ต่างประเทศถูกจำกัด ห้างร้านต่างๆถูกปิด ฯลฯ และปัญหาไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ ปัญหาที่กระทบโดนหมดแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องสันทนาการ การพักผ่อน การพบเพื่อนฝูง ฯลฯ แต่ที่กระทบมากๆก็คือ เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการหารายได้
แฟนผมเองเตือนอยู่เสมอว่า “รายได้มีวันหยุดหา แต่ค่าใช้จ่ายไม่มีวันหยุดใช้” ก็เห็นภาพชัดๆในวันนี้ ในวันที่เราไม่สามารถหารายได้ได้ แต่ค่าใช้จ่ายยังมีอยู่ ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนๆกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนจะต่างกัน เราพอจะแบ่งคนที่ได้รับผลกระทบตามปัญหาที่เกิดได้ ดังนี้
1.คนที่มีอาชีพอิสระ หรือทำงานรับจ้างแบบงานแลกเงิน ถ้าไม่ได้ทำงานก็ไม่มีเงิน (no work no pay) หาเช้ากินค่ำ คนกลุ่มนี้คงลำบากมาก เพราะอย่าถามถึงเงินเก็บ แค่เงินพอใช้ในแต่ละวันยังลำบาก คนกลุ่มนี้หลายคนเป็นหนี้ ถ้าถามระหว่างอดตายกับเป็นโรคตาย ก็เข้าใจนะที่เขาเลือกออกมาทำงานแทนที่จะอยู่บ้าน
2.คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แม้จะดูดีกว่ากลุ่มแรก แต่หลายคนก็ถูกลดเงินเดือน หลายคนถูกเลิกจ้าง แม้ว่าจะโชคดีมีประกันสังคมมาช่วยแบ่งเบาภาระให้บ้าง แต่ก็ได้อยู่ในช่วงจำกัด ประเด็นที่สำคัญก็คือ วันนึงปัญหา covid ก็ต้องจบ แต่ covid ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องมากมาย อย่างเช่น ทำให้เจ้าของธุรกิจเริ่มพิจารณาความจำเป็นของค่าใช้จ่ายต่างๆว่าอันไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น (ดูไปก็คล้ายตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หลังน้ำท่วม หลายคนกลับมาเป็นคนประหยัด ซื้อของที่จำเป็นเท่านั้น เพราะน้ำท่วมทำให้รู้ตัวว่าที่ผ่านมาใช้จ่ายซื้อของที่ไม่จำเป็นมาก ขยะเต็มบ้าน) ประกอบกับรายได้ก็มีปัญหา การจ้างงานก็คงพิจารณามากขึ้น รูปแบบธุรกิจคงเปลี่ยนแปลงไปใช้ online มากขึ้น ดังนั้นช่วงว่างงาน ลูกจ้างจึงควรศึกษาหาความรู้เยอะๆ หาช่องทางทำมาหากินอื่นๆเผื่อไว้ก่อนเลย ถ้าได้ทำงานต่อก็โชคดี แต่ถ้าไม่ได้ทำงานต่อ ก็จะมีช่องทางอื่นต่อไป อย่าประมาทครับ
3.เจ้าของธุรกิจ ก็เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบ สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
>>>> a. นายจ้างที่ดำเนินธุรกิจต่อ แต่เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดผ่านวิกฤติไปด้วยกัน สิ่งที่นายสามารถทำได้ ก็คือ การพูดคุยกับลูกจ้างเพื่อขอลดอัตราค่าจ้าง ลดวันทำงาน ฯลฯ แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างนะ โดยการทำเป็นหนังสือให้ลูกจ้างลงนาม
>>>> b. นายจ้างเลือกปิดกิจการหรือเลือกที่จะเลิกจ้างพนักงานไปเลย ก็จะเป็นกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 118
>>>> c. นายจ้างที่เลือกหยุดกิจการชั่วคราวเพราะภาวะเศรษฐกิจ อย่างเช่น กรณี โรงแรม บริษัททัวร์ ประกาศปิดกิจการชั่วคราวเองเพราะไม่มีลูกค้า ก็ยังต้องจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างอยู่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 75 กำหนดไว้ว่า. “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน”
ในคำพิพากษาฎีกาที่ 6960/2548 ศาลฎีกาวางหลักว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ต้องการคุ้มครองนายจ้างกรณีประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่ยังมีความประสงค์ประกอบกิจการต่อไป เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายจึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินเพียงครึ่งเดียวของค่าจ้างแทนที่จะต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้าง เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว นายจ้างอาจไม่สามรถรับภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างตกงาน ขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน สำหรับความจำเป็นที่นายจ้างจะหยิบยกขึ้นอ้างจะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ มิใช่ความจำเป็นทั่วไปเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อกิจการของนายจ้างมากนัก อีกทั้งระยะเวลาการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร
ปัญหาที่หลายคนกังวลก็คือว่า ในระหว่างปิดกิจการชั่วคราวลูกจ้างจะไปทำงานกับผู้อื่นได้หรือไม่ มาตรา 75 มิได้บัญญัติห้ามเรื่องนี้ไว้ อีกทั้งจะถือว่าลูกจ้างได้รับค่าจ้างสองทางก็ไม่ได้ เพราะเงินที่ได้รับจากนายจ้างระหว่างปิดกิจการชั่วคราวนั้นไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายกรณีปิดกิจการชั่วคราว ตัวอย่างเช่น นายจ้างประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กและแผ่นเหล็กชนิดต่างๆ นายจ้างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จนศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ นายจ้างออกประกาศหยุดกิจการชั่วคราว โดยจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดเวลาที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงาน โดยมีเงื่อนไขว่า หากลูกจ้างคนใดไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นให้สถานภาพการเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงทันที ในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างไปทำงานให้แก่นิติบุคคลอื่น นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ปัญหาว่านายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศของนายจ้างเป็นเพียงประกาศแจ้งให้ทราบถึงความจำเป็นที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่หยุดกิจการชั่วคราว แต่ไม่ใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานทันทีที่ไปประจำทำงานกับนิติบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงือนไขที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น การที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น จึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับนายจ้างอันจะทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง แม้ลูกจ้างยังเป็นลูกจ้างในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว แต่นายจ้างมิได้มอบงานให้ทำ
ส่วนเงินที่นายจ้างจ่ายมิใช่ค่าจ้างแต่เป็นที่ต้องจ่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 ซึ่งมิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว การที่ลูกจ้างไปทำงานให้แก่บุคคลอื่นจึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้างและไม่เป็นการเอาเปรียบนายจ้างที่รับเงินสองทางเพราะเงินที่นายจ้างจ่ายให้ไม่ใช่ค่าจ้าง เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ได้กระทำผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย(คำพิพากษาฎีกาที่7675/2548)
แต่สิ่งที่ควรคำนึงอีกข้อ ก็คือ เนื่องจากนายจ้างปิดกิจการชั่วคราวเพราะไม่มีลูกค้าและไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ เมื่อลูกจ้างได้เงินจากนายจ้างตามมาตรา 75 ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม “ลูกจ้างผู้ประกันตน” ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมติ ครม.(24 และ 31 มีนาคม 2563) จะได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม มี 2 กรณีเท่านั้น คือ
• กรณีภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว หรือ นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานเพราะถูกกักตัวจากการติดเชื้อ covid หรือ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
• ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน (ให้ออก-ลาออกเอง)
>>>> d. นายจ้างปิดกิจการชั่วคราวมีสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจโทษนายจ้างได้อย่างเช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราวอย่างตอนนี้ ฯลฯ ต้องถือว่าการที่นายจ้างไม่อาจมอบงานให้ลูกจ้างทำเป็นกรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย นายจ้างย่อมหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ มาตรา 219 เมื่อไม่มีการทำงานโดยโทษนายจ้างไม่ได้ นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าตอบแทนในระหว่างปิดกิจการ คือนายจ้างและลูกจ้างต่างได้รับบาปเคราะห์ ลูกจ้างกรณีนี้จะได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมครับ
หมายเหตุ: “ เหตุสุดวิสัย” (Force majeure) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ให้ความหมายว่า เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
4.กลุ่มสุดท้าย คือ คนที่มีเงินออมเก็บไว้ วิกฤติ covid ทำให้นึกถึงคำพูดของ Warren Buffett ที่ว่า “ไอ้การพยากรณ์ว่าวันไหนฝนจะตกจนน้ำท่วมโลกน่ะมันไม่สำคัญหรอก สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณมีเรือโนอาห์ของคุณแล้วหรือยัง?” หรือที่เรียกกันว่า “กฎของเรือโนอาห์” ซึ่งหมายความว่า หากเกิดความเสี่ยงที่รุนแรงกับเรา เรามีการเตรียมพร้อม (เตรียมเรือโนอาห์)ไว้รองรับความเสี่ยงนั้นหรือยัง ณ วันนี้ทุกคนเดือดร้อนกันหมด แต่คนที่ยังสามารถใช้ชีวิตปกติได้อยู่ ก็คือคนที่เตรียมพร้อมมาตลอดเวลา เก็บออมเงิน สะสมความรู้ความสามารถ และไม่เพียงแต่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติ ยังมีโอกาสได้ลงทุนในหลักทรัพย์การลงทุนที่ดี ราคาถูกได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ”
หมายเหตุ : เรือโนอาห์เป็นเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่ง “พระเจ้าดลใจให้เขียนขึ้นมา”—2 ทิโมธี 3:16 เป็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าบันดาลให้น้ำมาท่วมโลกเพื่อทำลายคนชั่ว แต่พระองค์ให้โนอาห์สร้างเรือใหญ่เพื่อปกป้องชีวิตคนดีและสัตว์ต่าง ๆ (ปฐมกาล 6:11-20)
เราเป็นคนกลุ่มไหน ไม่ใช่เรื่องที่เราตัดสินใจในตอนนี้ เพราะมันสายไปแล้ว แต่หลังจากนี้เราจะเป็นคนกลุ่มไหน ก็ขึ้นกับการตัดสินใจของเราในตอนนี้ล่ะ