THANI งง หุ้นดิ่ง 2 ฟลอร์ ยันมีเครดิตไลน์แบงก์หนุนเงินทุน

HoonSmart.com>>หุ้นราชธานีลิสซิ่งทรุดต่ำสุด 15%ติดต่อเป็นวันที่สอง “วิรัตน์ ชินประพินพร” ประธานบริษัทชี้แจง ไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเกิดจากนักลงทุนห่วงเรื่องเงินทุน บริษัทยังมีวงเงินสามารถเบิกจากแบงก์ได้ ส่วนกรณีจะถูกลดเครดิตไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ  ด้านผลงานไตรมาส 1 ปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลง 15-20%  นักวิเคราะห์ห่วง THANI มีหุ้นกู้ครบกำหนดปีนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท ต่ออายุต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม

วันที่ 2 เม.ย. 2563 นักลงทุนยังคงเทขายหุ้น บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง(THANI) ออกมาอย่างรุนแรง เพียงครึ่งวัน ราคาทรุดต่ำสุด 15% (ฟลอร์) ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 อยู่ที่ 2.92 บาท ติดลบ 0.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 386 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า ต่ำสุดฟลอร์ 3.40 บาท ก่อนปิดที่ 3.42 บาท รูดลง 0.56 บาท มูลค่าซื้อขาย 173 ล้านบาท นับว่าสูงกว่าปกติที่มีการซื้อขายวันละหลักสิบล้านบาท อย่างไรก็ตามเปิดการซื้อขายภาคบ่าย แรงซื้อหุ้นกลับ ส่งผลให้ราคปิดที่ 3.22 บาท ติดลบ 0.22 บาท หรือ 5.85% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 851 ล้านบาท

นายวิรัตน์ ชินประพินพร ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) เปิดเผยว่า ไม่ทราบสาเหตุที่ราคาหุ้นลงแรง คาดว่าอาจจะเป็นเพราะนักลงทุนกังวลเรื่องเงินทุนของบริษัท ซึ่งบริษัทยังมีวงเงินที่สามารถเบิกจ่ายกับทางธนาคารพาณิชย์ได้อยู่ (เครดิตไลน์) นอกจากนี้อาจจะเป็นเพราะวันที่ 10 เม.ย.นี้ บริษัททริสเรทติ้ง มีแนวโน้มปรับเครดิตเป็นลบ บริษัทฯมองว่าไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจ ในส่วนของราชธานีลิสซิ่ง การปล่อยสินเชื่อใหม่ไตรมาส  1/2563  ลดลงประมาณ 15-20% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องมาจากการชะลอตัวของการปล่อยสินเชื่อ และการคุมการปล่อยอย่างระมัดระวัง  คาดว่ารวมทั้งปีนี้ คงจะปล่อยไม่ถึงเป้าหมายที่ระดับ 26,000 ล้านบาท  บริษัทฯยังต้องติดตามสถานการณ์ไตรมาสต่อไตรมาส เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอด

นอกจากนี้บริษัทฯต้องช่วยเหลือลูกหนี้ ตามมาตรการของแบงก์ชาติ ที่ให้เลื่อนพักชำระหนี้ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดเป็นหนี้สงสัยจะสูญ (NPLs) ซึ่ง NPLs ของบริษัทฯยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น THANI ปรับตัวลงต่อ คาดมาจากเป็นบริษัทที่มีหุ้นกู้ที่ต้องอายุ( roll-over) ค่อนข้างมากในปีนี้ ตามหมายเหตุงบการเงินปี 2562 พบว่ามีหุ้นกู้ 1.1 หมื่นล้านบาท ที่ครบกำหนดไถ่ถอนปีนี้ ตลาดกลัวว่า อาจต้อง roll-over ในดอกเบี้ยที่แพงขึ้น