HoonSmart.com>> ก.ล.ต. อนุมัติจัดตั้ง “กองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน” แล้ว 18 กองทุน เริ่มเปิดขาย 1 เม.ย. บล.ดีบีเอสฯ คัดหุ้นชั้นดี ราคาดิ่งเกิน 30% ปันผลสูง ตกเป็นเป้าสายตาของบลจ. ด้านบล.ทรีนีตี้ คาดหุ้นผ่านจุดต่ำสุดแล้ว 970 แนะลงทุนเดือนเม.ย. ทยอยขาย เจอแนวต้าน1,130-1,140 จุด และ 1,220 จุด ชวนเลือกลงทุน 12 หุ้นใน 5 กลุ่ม ไฟฟ้า-สื่อสาร-อาหาร-BAM-ค้าปลีกของใช้ประจำวัน ภาพรวมตลาดไตรมาส 1/63 ดัชนีร่วงเฉียด 29% ต่างชาติทิ้ง 1.15 แสนล้านบาท นักลงทุนซื้อ 96,631 ล้านบาท
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF) หลักทรัพย์จดทะเบียน แล้ว 18 กองทุน จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 14 แห่ง ซึ่งพร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนได้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ถึง 30 มิ.ย. 2563
นางอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน ออกมาในจังหวะที่ดี คาดว่าจะมีเม็ดเงินจำนวน 6 หมื่นล้านบาท มีหุ้นที่น่าซื้อสะสมจำนวนมาก พิจารณาจากหุ้นพื้นฐานดีที่มีราคาหุ้นลงมาต่ำกว่า 30-40% และปันผลสูงสม่ำเสมอ น่าจะอยู่ในจอเรดาร์ของบลจ.ที่บริหารกองทุนนี้
ทีมกลยุทธ์ได้ใช้ข้อมูล ณ วันที่ 30 มี.ค. 2563 เลือก บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ราคาลงมามากถึง 58% การบริหารงานมีความโปร่งใส่ บริษัทไทยออยล์(TOP) เป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด จ่ายปันผลดี 5% ต่อปี แม้ว่าปีนี้จะมีขาดทุนสต็อกถึง 5,700 ล้านบาท กำไรเหลือเพียง 1,000 ล้านบาท บนสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบปีนี้เฉลี่ย 35 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 22% และปีหน้าเฉลี่ย 37 ดอลลาร์ ลดลง 21%
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ราคาลงแรง 42% อัตราผลตอบแทนปันผล 4%ต่อปี บริษัท ปตท. (PTT) ปันผล 4-5% บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) เป็นหุ้นที่มีเงินสด ตกประมาณ 10-11 บาท/หุ้น มีปันผลด้วย บริษัท คอมเซเว่น (COM7) มีแผนกลยุทธ์ที่ดี เกิดไวรัสโควิดระบาดให้เช่า Notebook หรือ iPad รองรับการทำงานที่บ้าน มีปันผล 4-5%
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) หรือ (AP) ผ่านวิกฤตมาหลายรอบ มีกลยุทธ์ธุรกิจที่ดี ปันผล 0.40 บาท/หุ้น ผลตอบแทน 10% บริษัท แลนด์ แอนด์เฮ้าส์ (LH) โมเดลธุรกิจกระจายความเสี่ยง ปันผล 9-10% จ่ายปีละ 2 ครั้ง บริษัท วีจีไอ (VGI) ผู้นำสื่อนอกบ้าน
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในเดือนเม.ย. 2563 ว่า ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แต่จะมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กว่า 20 แห่งเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืน และการเริ่มขายกองทุน SSF พิเศษ คาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 2 หมื่นล้านบาทไหลเข้ามา เปรียบเทียบกับข้อมูลกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในอดีต
“หุ้นไทยมีโอกาสผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 1 ที่ 970 จุด หากเศรษฐกิจลงไปต่ำสุดในไตรมาส 2 ส่วนแนวโน้มหุ้นในเดือนเม.ย.จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ 2 ช่วง คือ 1,130-1,140 จุดและ 1,220 จุด ถ้าขึ้นไปแตะแนวต้านแรกแนะนำขายหุ้นออกมาบางส่วนและหากยังเดินหน้าไปต่อถึงระดับ 1,220 จุด แนะนำเป็นจุดขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ”บล.ทรีนีตี้กล่าว
สำหรับธีมการลงทุนในเดือนเม.ย.ยังคงโฟกัสไปที่ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 12 บริษัท ที่มีโอกาสเป็นเป้าหมายหลักของกองทุน SSF พิเศษ โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active management ประกอบด้วย 1.หุ้นโรงไฟฟ้า ที่น่าสนใจคือ บริษัทบี.กริมเพาเวอร์ (BGRIM) บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และบริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH)
2. กลุ่มสื่อสารที่มีปันผลสูง มีความผันผวนต่ำและยังได้รับประโยชน์จากการทำงานที่บ้าน เช่น บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH)
3 กลุ่มสินค้าอุปโภค บริษัทสยามแม็คโคร (MAKRO) บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)
4. กลุ่มบริหารสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยลดลง คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) และ 5. กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า กำไรเทิร์นอะราวด์ คือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำแนะนำให้ลงทุน 10% ของพอร์ต เนื่องจากได้ประโยชน์จากสภาพคล่องโลกล้นทำจุดสูงสุดใหม่
ทางด้านภาพรวมตลาดหุ้นในไตรมาส 1/2563 ดัชนีปิดที่ 1,125.86 จุด ร่วง 453.98 จุด หรือ -28.73% จากสิ้นปี 2562 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,579.84 จุด ต่างชาติเทขาย 115,354.91 ล้านบาท รองลงมาบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 7,350.02 ล้านบาท ด้านนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 96,631.52 จุด และนักลงทุนสถาบันซื้อสทธิ 26,073.41 ล้านบาท
ตลาดหุ้นปิดวันที่ 31 มี.ค.2563 ที่ระดับ 1,125.86 จุด +38.04 จุด หรือ +3.50% มูลค่าการซื้อขาย 56,906.16 ล้านบาท สถาบันไทยเพียงกลุ่มเดียว จำนวน 5,923 ล้านบาท
ดัชนีปรับตัวขึ้นแรงเกินคาด แม้ว่าราคาน้ำมันดิบทรุดตัวลงแรงต่ำกว่า 20 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ไม่มีผลกระทบต่อหุ้นพลังงาน และปิโตรเคมี กลับมีแรงซื้อเข้ามาหนุนราคาปรับตัวขึ้นแรง นำโดย IVL บวก 2.40 บาทหรือ12.63% ปิดที่ 21.40 บาท รวมถึงแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่กลับคืน มีส่วนสนับสนุนให้ดัชนีบวกแรง 38 จุด
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีปรับตัวขึ้นเด่น จาก 2 ปัจจัยหนุน ได้แก่ 1.PMI ภาคการผลิตของจีนเดือน มี.ค. ออกมาดีกว่าคาด และประธานาธิบดี ทรัมป์ ต่อสายตรงคุยกับปูติน เพื่อหารือการตกต่ำของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก