HoonSmart.com>>เซ็นทรัลพัฒนาลั่นเอาอยู่ หาทางลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ปรับแผนลงทุนทั้งหมด และรีไฟแนนซ์หนี้ 8,865 ล้านบาทยาวขึ้น เพื่อรักษากระแสเงินสดและสภาพคล่องรับมือไวรัสโควิด หลังปิดศูนย์การค้าในไทย 28 แห่ง มาเลเซีย 1 แห่ง ธุรกิจโรงแรมและขายอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบ ส่วนอาคารสำนักงานยังเปิดปกติ
นางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 จากการปิดให้บริการศูนย์การค้าบางแห่งชั่วคราว ว่า บริษัทจะมีการลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย รวมถึงอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุนทั้งหมด และเตรียมแผนที่จะรีไฟแนนซ์หนี้ใช้เงินกู้ระยะยาว จากปัจจุบันมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี ทั้งสิ้น 8,865 ล้านบาท ทั้งนี้การรีไฟแนนซ์จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.91% ณ สิ้นปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี บริษัทฯสามารถกู้เงินระยะสั้น เพื่อรองรับความต้องการสภาพคล่องในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ
“การทบทวนแผนการลงทุนทั้งหมดคาดว่าจะชะลอและปรับแผนพัฒนาโครงการใหม่และการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการเดิมออกไป เพื่อลดภาระการลงทุนในสินทรัพย์ (Capital Expenditure) ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 0.37 เท่า ซึ่งยังคงอยู่ในเป้าหมายที่ 1 เท่าและตํ่ากว่าเงื่อนไขของเงินกู้และหุ้นกู้ที่ระดับ 1.75 เท่า”
บริษัทได้ทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ในเบื้องต้นพบว่า ยังสามารถรักษาสถานะทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเงินกู้และหุ้นกู้ได้ โดยให้ความสำคัญในการรักษากระแสเงินสดและเตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่อง เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3,055 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 14,213 ล้านบาท
ในปี 2562 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจให้เช่าและบริการในศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน สัดส่วนประมาณ 83% ของรายได้รวม ปัจจุบันบริษัทปิดให้บริการศูนย์การค้าทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล 15 โครงการ ต่างจังหวัดอีก 13 โครงการ ระหว่าง 7-39 วัน รวมถึงศูนย์การค้า เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ประเทศมาเลเซีย ปิดวันที่ 18 มี.ค. – 14 เม.ย. 2563 ตามประกาศของรัฐบาลประเทศมาเลเซีย โดยยังเปิดให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าที่จำเป็น อาทิ ธนาคาร ร้านขายยา นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้มีบริการร้านอาหารแบบ Delivery และแบบซื้อกลับบ้าน ธุรกิจให้บริการศูนย์อาหาร สัดส่วน 2%
ทั้งนี้บริษัทฯจะยกเว้นค่าเช่าให้แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดศูนย์การค้าชั่วคราว และลดค่าเช่าให้แก่ร้านค้าในศูนย์การค้าที่ยังเปิดให้บริการตามปกติ แต่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาร้านค้าในศูนย์การค้าของบริษัทฯ
ส่วนอาคารสำนักงานในกรุงเทพและภายใต้การบริหารของบริษัททั้ง 7 โครงการ รวมถึงบริษัทย่อย 3 โครงการยังเปิดให้บริการตามปกติ
สำหรับธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 3% บริษัทฯ เปิดให้บริการโรงแรมฮิลตัน พัทยา และโรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี ตามปกติในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ แต่จะปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563เป็นต้นไป รวมถึงปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อลดต้นทุน เลื่อนแผนการปรับปรุงโรงแรมฮิลตัน พัทยา ให้เร็วขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.จนถึงเดือนพ.ย. 2563 เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานเตรียมพร้อมเปิดให้บริการใหม่
ธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 8% บริษัทฯ คาดว่าความต้องการโครงการพักอาศัยจะได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะโครงการใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2563 และโครงการที่มียอดจองยังไม่เต็ม อย่างไรก็ดี บริษัทฯอยู่ระหว่างการโอนโครงการที่พัฒนาแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วให้แก่ลูกค้าและยังมียอดจองในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวนมากพอสมควร คาดว่าจะสามารถโอนได้ส่วนใหญ่ภายในปี 2563