HoonSmart.com>>ฟิทช์ เรทติ้งส์ฯซ้ำเติม ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตประเทศไทยเป็น ‘มีเสถียรภาพ’ ลดเป้า GDP ปีนี้โต 1% เตือนบริษัทออกหุ้นกู้-นักลงทุนระวังบริษัทเสี่ยงถูกลดอันดับเครดิต พุ่งเป้ากลุ่มน้ำมัน-ปิโตรเคมี- โทรคมนาคม-บริษัทผลิตปูนรายใหญ่ ส่วนแบงก์แข็งแกร่งรับมือไหว ค่ายบล.ไทยพาณิชย์ ปรับลดเป้ากำไรบจ.ปีนี้ คาดนักท่องเที่ยวหดตัว 10% กดดันโรงแรม ค้าปลีก ธุรกิจการบิน ส่วนขนส่งมีผลทางอ้อมต่อ BTS,BTSGIF-BEM บริษัทที่พึ่งพารายได้จากต่างชาติ สถานบริการปิดชั่วคราวกระทบ MAJOR-IMPACT-GPI-AUCT-M-AU-ZEN ราคาน้ำมันร่วงกระเทือน PTTEP-TOP-SPRC-ESSO บิ๊กปตท.ยอมรับกำไรลดลงไตรมาส 1 เจอขาดทุนสต็อก ยืนยันเดินหน้าจัดประชุมผู้ถือหุ้น “ก้องเกียรติ”แนะซื้อหุ้นเก็บเข้าพอร์ต ด้านหุ้นไทยยังคงผันผวนสูง ปิดบวก 12 จุด สวนทางตลาดภูมิภาค ราคาทองเปลี่ยนแปลง 13 ครั้ง +600 บาท
เจอรามีซูกค์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ฟิทช์เพิ่งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตประเทศไทยเป็น ‘มีเสถียรภาพ’ จาก ‘บวก’ คาดไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีต่อเนื่อง ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปี 2563 ที่ 1%ปัจจัยหลักจากภาคท่องเที่ยว ภัยแล้ง และมีความเป็นไปได้ที่จะถูกปรับลด GDPลงอีก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งทางการเงินภาคต่างประเทศ และภาคการคลังสาธารณะ รองรับความเสี่ยงจากภาวะการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘BBB+’
นายโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรม บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)เตือนบริษัทที่ออกหุ้นกู้และนักลงทุนว่าสถานะทางเครดิตของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมน่าจะได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้น หนี้สินสูง ฟิทช์คาดว่าการปรับอันดับเครดิตในเชิงลบน่าจะยังคงเพิ่มขึ้นในปี 2563 เนื่องจากบริษัทที่มีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบมีสัดส่วนสูงขึ้นและมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทส่วนใหญ่ที่ฟิทช์จัดอันดับจะยังคงมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพเนื่องจากมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยง และมีระดับหนี้สินไม่สูงมาก
ในปี 2563 อุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี น่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบ แต่บริษัทบางแห่งอาจใช้กลยุทธ์และทรัพยากร หรือบริษัทมีหนี้ต่ำ สามารถป้องกันผลกระทบต่ออันดับเครดิตได้ในระยะสั้น ส่วนผู้ผลิตซีเมนต์รายใหญ่ของประเทศมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตปัจจุบัน เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการและการลงทุนที่สูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ปูนช้ากว่าที่คาดและกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราส่วนหนี้สินลดช้ากว่าที่คาด
สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมผู้ประกอบการมีการลงทุนที่อยู่ในระดับสูงและน่าจะสูงขึ้นในช่วง1-2 ปีข้างหน้าจากการลงทุนระบบ 5G นอกจากนี้การแข่งขันด้านราคาน่าจะยังคงกดดันรายได้และการเติบโตของรายได้ของผู้ประกอบการ
นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงิน บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์(ประเทศไทย) คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์และรายได้ของธนาคารน่าจะลดลงอย่างมากในปีนี้ โดยกลุ่มลูกหนี้ SME ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของสินเชื่อรวมและเป็นกลุ่มที่มีความมีความเปราะบางค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามภาคธนาคารไทยยังคงมีความสามารถที่จะรับมือกับความเสี่ยงได้ในระดับที่ใช้ได้ ณ สิ้นปี 2562 ทั้งระบบมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Core Equity Tier 1) ระดับ 16.0%และมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 145% อีกทั้งภาวะสภาพคล่องภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง
ด้านบล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ปรับลดประมาณการของกำไรบจ.ในปี 2563 เช่นปิโตรเคมี น้ำมันลดลง 18.9% โรงแรม 30.3% ขนส่ง 23.1% ขณะที่ราคาหุ้นปิโตรเคมีดิ่งลงแรงถึง 51% นับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 16 มี.ค. ตามด้วยกลุ่มแบงก์ 41.9% และพลังงาน 40%
การปรับลดประมาณการกำไรภายใต้สมมติฐานปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยว 35.8 ล้านคน หดตัว 10% กดดันกลุ่มโรงแรม เช่น MINT-ERW-CENTEL ค้าปลีก MAKRO, CPALL, BJC,CPN ธุรกิจการบิน AOT คาด AAV- THAI ขาดทุนมากกว่าคาด และมีผลทางอ้อมต่อ BTS,BTSGIF-BEM รวมถึงบริษัทที่พึ่งพารายได้จากต่างชาติ TKN-SPA-BEAUTY-DDD ขณะที่อสังหาริมทรัพย์กำลังซื้อในประเทศลดลงและการชะลอการโอนของลูกค้าต่างชาติ SIRI-ANAN-NOBLE-AP-PSH โรงพยาบาล BH สถานบริการปิดชั่วคราว MAJOR-IMPACT-GPI-AUCT-M-AU-ZEN ส่วนราคาน้ำมันร่วงกระเทือน PTTEP-TOP-SPRC-ESSO
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ขณะนี้มองว่าไวรัสโควิด-19 อาจใช้เวลาถึง 1 ปีกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง นานกว่าเดิมที่คาดไว้ 6 เดือน ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้และราคาน้ำมัน ซึ่งน่าจะมีผลต่อการขาดทุนสต็อกน้ำมันกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาส 1
ส่วนการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ของกลุ่มปตท.ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ยืนยันว่าบริษัทในกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมดจะยังคงจัดประชุมตามกำหนดเดิม หากเลื่อนอาจจะเกิดปัญหาตามมามากมาย รวมถึงการจ่ายเงินปันผล ที่จะต้องขอมติ นับเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากผู้ถือหุ้นกลุ่มปตท.มีจำนวนนับเป็นแสนราย
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) เปิดเผยว่า หุ้นที่ปรับตัวลง 30 % มองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการซื้อหุ้นที่มีการเติบโตสูง ส่วนธุรกิจของบริษัทก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สามารถคลี่คลาย หรือเริ่มเห็นภาพที่ดีขึ้น ASP ยังมีความสามารถลงทุนที่ดี โดยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สามารถแปลงสินทรัพย์เป็นเงินสดได้รวดเร็ว และมีสภาพคล่องสูง รวมถึงสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ) อยู่ที่ 0.4 เท่า
ขณะที่ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ยังเติบโตได้ จากการแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศถึง 24 ประเทศ และ 28 ตลาดหุ้น หากสถานการณ์ดีขึ้น หุ้นที่เป็นผู้นำของตลาดต่างๆก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว บริษัทมองว่าตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงมีความน่าสนใจ ส่วนตลาดหุ้นยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยังมีปัจจัยอื่นที่ยังมีผลกระทบอยู่ ต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ
ด้านการซื้อขายวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่ใช้เกณฑ์ใหม่ ซิลลิ่ง-ฟลอร์ 15% และ circuit Breaker ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลงแรงไม่มากเหมือนที่ผ่านมา ระหว่างวันขึ้นไปสูงสุด 40 จุด ก่อนมีแรงเทขายในช่วงบ่ายกดดันตลาดไหลลงอย่างรวดเร็วติดลบ 8 จุด และฟื้นขึ้นมาปิดที่1,048.15 จุด +12.98 จุด หรือ +1.25% มูลค่าการซื้อขาย 59,186 ล้านบาท นับว่าดีก่าตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่ต่างชาติยังคงขายต่อ 3,997 ล้านบาท และขายตราสารหนี้ 6,876 ล้านบาท ส่วนสถาบันไทยซื้อหุ้น 3,046 ล้านบาท ด้านราคาทองก็มีความผันผวน ในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงถึง 13 ครั้งในหนึ่งวัน สุดท้ายปิด +600 บาท