เฟด-ยุโรป-ญี่ปุ่นอัดฉีดเงินมหาศาล หุ้นโลกร่วงแรงต่อ ขาดความเชื่อมั่น

HoonSmart.com>>ความเชื่อมั่นนักลงทุนกู่ไม่กลับ ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่จับมือกันใช้ยาแรง  เฟดลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ใช้คิวอีมากถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นคงดอกเบี้ย-0.1% หนุนซอฟ์ทโลนธุรกิจ ดอกเบี้ย 0% ยุโรปใช้คิวอี แต่ตลาดหุ้นโลกกลับดิ่งลงแรงต่อ ดาวโจนส์ล่วงหน้าทรุด 5%  ไทยรูด 7% ไม่กล้าซื้อกลัวตลาดหุ้นสหรัฐไหลลง  บล.ทรีนีตี้ชวนลงทุนยามตลาดลงแรงเพราะความกลัวแถว 970 และ 760 จุด

 

ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด) ใช้ยาแรงในการประคับประคองเศรษฐกิจ โดยการเรียกประชุมฉุกเฉินปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 1% เหลือ 0-0.25% และใช้คิวอีสูงเป็นประวัติการณ์ 7 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) เพิ่มคิวอีก 1.2 แสนล้านยูโร ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) เรียกประชุมฉุกเฉินวันนี้ (16 มี.ค.63) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ -0.1%  แต่เพิ่มเป้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมอีก 2 ล้านล้านเยน และใช้ซอฟท์โลน ให้บริษัทเอกชนกู้ 1 ปี ดอกเบี้ย 0%

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ ส่งผลให้ดาวโจนส์ล่วงหน้าดิ่งลงแรง 5% หรือ 1,041 จุด อยู่ที่ 21,798 จุด ต้องประกาศใช้ Circuit Breaker คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อดัชนีดาวโจนส์ และ ดัชนี S&P 500

นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรป ก็ปรับตัวลงแรง 6-8% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียที่รูดลง 2-4% เช่น ฮ่องกง ไหลลลง 4.03% ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไหลลง 7.34% หรือ 82.83 จุด ปิดที่ระดับ 1,046.08 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 68,179.26 ล้านบาท นักลงทุุนต่างชาติขายต่อ 5,425 ล้านบาท พอร์ตบล.ร่วมด้วย 1,460 ล้านบาท ส่วนรายย่อยช้อน 4,938 ล้านบาท และสถาบันซื้อ 1,946 ล้านบาท

นักกลยุทธ์ แนะนำนักลงทุนยังไม่ต้องรีบเข้ามาซื้อหุ้น  คาดว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ นำโดยสหรัฐยังมีโอกาสปรับตัวลงแรง ท่ามกลางการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  และแต่ละประเทศจำกัดการลุกลามด้วยการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ กล่าวมาตรการของเฟดจะช่วยสร้างสภาพคล่องในตลาดเงินทั่วโลกได้และจะช่วยประคองราคาสินทรัพย์ต่างๆ  ส่วนอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ลดลงมาเหลือ 0.00-0.25% ถือเป็นระดับเดียวกับที่เคยนำมาใช้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 ส่วนการประกาศเพิ่มการซื้อสินทรัพย์ถือเป็นปัจจัยบวกต่อขนาดงบดุลของเฟดอย่างสำคัญเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เฟดประกาศยุติการลดขนาดงบดุลไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีก่อน

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุน ส่วนนักลงทุนที่ยังมีสภาพคล่องรับความผันผวนและความเสี่ยงได้แนะนำเลือกซื้อในจังหวะที่ดัชนีปรับตัวลงมาแรงด้วยความกลัว ซึ่งประเมินไว้ 2 ระดับ คือดัชนี 970 จุดและ 760 จุด เลือกหุ้นที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายของกองทุน SSF รูปแบบใหม่ที่จะออกมาในเดือนเมษายนนี้ คือ 1) กลุ่มค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) ,บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ( BJC) จะได้ผลดีจากการกักตุนสินค้าของประชาชนไม่มีปัญหาด้านการจัดหาซัพพลายเออร์ หรือต้นทุนโลจิสติกส์แต่อย่างใด  กลุ่มสื่อสารที่มีเงินปันผลสูง เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส   (ADVANC) ,บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์  (INTUCH)

ส่วนกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ราคาปรับลงมาลึกมากแต่ยังมีรายได้ที่สม่ำเสมอในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำ  เช่น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์   (BGRIM) ,บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่  (GPSC) ,บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์  (GULF) ,บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO, บริษัท ราช กรุ๊ป   (RATCH) นอกจากนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ ( BAM) ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงและกลุ่มอาหารที่เห็นการฟื้นตัวของกำไร เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  (CPF) ,บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป  (TU)

ส่วนทองคำนั้นยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ในกลุ่ม Safe haven   แนะนำเพิ่มน้ำหนัก จากเดิม 5% เป็น 10% ของพอร์ต หลังจากราคาปรับฐานลงมาแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา  และเฟดลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ทำให้ทองคำน่าเก็บสะสมมูลค่ามากยิ่งขึ้น และธนาคารกลางหลายประเทศมีแนวโน้มเพิ่มการถือครองทองคำเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแทนสกุลเงินต่างๆ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นด้วยเช่นกัน