HoonSmart.com>> บลจ.ยูโอบี ปลื้มกองทุนบริลเลียน พลัส ฟันด์ (BPLUS) ผลตอบแทนรับดีหนุนขนาดกองทุนแตะ 6,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 300% ในช่วง 4 เดือน ชูจุดเด่นกองทุนรวมผสมแบบ Fund of Funds กระจายการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก กองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs ต่างประเทศ และกองทุนอสังหาฯ ไทย ช่วยลดความผันผวนพอร์ตลงทุน
น.ส.รัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บลจ.ยูโอบี ประสบความสำเร็จในการบริหารกองทุน บริลเลียน พลัส ฟันด์ หรือ Brilliant Plus Fund (BPLUS) ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปลายเดือนพ.ย.ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักลงทุน ประกอบกับความเชี่ยวชาญของทีมบริหารกองทุนของ บลจ. ยูโอบี และทีมบริหารกองทุนของกองทุนต่างประเทศ ส่งผลให้กองทุนดังกล่าวมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) เติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลากว่า 3 เดือน โดยล่าสุด ณ วันที่ 10 มีนาคม 2563 มีมูลค่า AUM ประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 300% เทียบกับ ณ วันที่จดทะเบียนกองทุน 3 ธันวาคม 2562 มีมูลค่า AUM อยู่ที่ 1,600 ล้านบาท
“ความสำเร็จดังกล่าวมาจากจุดเด่นด้านกลยุทธ์การลงทุนของกองทุน BPLUS ที่เน้นกระจายการลงทุนในตราสารที่หลากหลายทั่วโลก เป็นกองทุนรวมผสมแบบ Fund of Funds ที่ลงทุนในกองทุนทั้งในและต่างประเทศ และเป็นกองทุนรวมผสมที่ปัจจุบันคาดการณ์สัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่ในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพทั่วโลกประมาณ 80% และอีก 20% ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และ REITs ซึ่งตอบโจทย์การลงทุน ช่วยเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจในภาวะดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเน้นหลักการ Diversify ท่ามกลางภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูงในปัจจุบัน”น.ส.รัชดา กล่าว
อย่างไรก็ตามจากสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 เข้าสู่ปี 2563 เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากปัจจัยกดดันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเจรจาทางการค้าของสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีก่อน ประเด็นความเสี่ยงทางการเมือง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลกระทบจากประเด็น Brexit ประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อที่แพร่ขยายเป็นวงกว้างเกือบทั่วทั้งโลก ปัจจัยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ฉุดให้เศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอการเติบโตลง
ล่าสุดเหตุการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงจากประเด็นที่ซาอุดิอาระเบียประกาศทำสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซีย ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มมาตรการต่างๆในการพยุงเศรษฐกิจ เพื่อลดความกดดันต่อตลาดเงินและตลาดทุน การลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทางเลือกทั่วโลก จะเป็นแนวทางการลงทุนที่จะสามารถช่วยให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะปานกลางถึงยาวได้ อีกทั้งยังเป็นการลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตการลงทุนได้ทางหนึ่ง
สำหรับพอร์ตการลงทุน ณ วันที่ 28 ก.พ. 2563 กองทุน BPLUS ได้มีการกระจายการลงทุนไปในหลายกองทุน โดยลงทุนใน Manulife Asia Pacific IG Bond Fund Class A คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนประมาณ 32.95%* ของมูลค่า NAV ซึ่งบริหารจัดการโดย Manulife Investment (ประเทศสิงคโปร์) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ Investment grade ที่ออกโดยรัฐบาลและเอกชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และปรับเปลี่ยนระยะเวลาลงทุนได้อย่างยืดหยุ่นในกรอบ 1- 5 ปี เพื่อรับประโยชน์จากวัฎจักรอัตราดอกเบี้ยในแต่ละช่วง
นอกจากนั้นยังมีการลงทุนในกองทุน United SGD Fund (Class A-Acc USD (Hedged)) ในสัดส่วน 31.10% ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งและบริหารจัดการโดย UOB Asset Management, ประเทศสิงคโปร์ โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นและเงินฝากของสถาบันการเงิน ซึ่งกระจายการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดี และมีการลงทุนบางส่วนในตราสารหนี้ในยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ในส่วนของการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs ปัจจุบันเน้นกระจายการลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกผ่านกองทุน UBS (Lux) Real Estate Fund Selection-Global (class I-96 EUR Acc) ในสัดส่วนประมาณ 10.66% บริหารงานโดย UBS ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยกองทุนนี้จะมีการกระจายการลงทุนไปยังกองทุนอสังหาริมทรัพย์ รวม 43 กองทุนทั่วโลก ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การจัดการมากกว่า 5,000 โครงการ และรายได้จากผู้เช่าในโครงการกว่า 20,000 ราย (ที่มา : *UOB Asset Management, ณ 28 ก.พ. 2563)
นอกจากนี้ในส่วนที่เหลือกองทุน BPLUS กระจายการลงทุนใน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในไทย โดยมี บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) เป็นผู้บริหารจัดการ รวมถึงลงทุนในตราสารหนี้เอกชนไทยที่มีคุณภาพ และพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยผู้จัดการกองทุนจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับภาวะตลาดในแต่ละขณะ
กองทุน BPLUS เป็นกองทุน Fund of Funds ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในกองทุน CIS กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุน Private Equity หรือกองทุน ETF ทั้งใน และ/หรือ ต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป โดยจะเข้าลงทุนในกองทุนปลายทาง เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และในขณะเดียวกันจะลงทุนในต่างประเทศ เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกิน 79% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยส่วนของการลงทุนในต่างประเทศมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน