HoonSmart.com>>โลกแห่งการลงทุนเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ จนตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นไทยต้องประกาศใช้ circuit breaker ถึง 2 ครั้ง ภายในสัปดาห์เดียว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) สั่งพักการซื้อขายชั่วคราว 30 นาทีติดต่อกัน 2 วัน โดยเฉพาะวันศุกร์ 13 มี.ค. 2563 หยุดตั้งแต่ไก่โห่ เริ่มเวลา 09:59 น.จนถึง 10:29 น. สถานการณ์นี้เกิดขึ้นได้หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ หากตลาดหลักทรัพย์ “รับมือสถานการณ์ได้รวดเร็ว” และ”แม่นข้อกฎหมาย”
รู้ทั้งรู้ว่าสถานการณ์ตอนนี้วิกฤติมาก ไม่ว่าใครจะอยู่ในตลาดหุ้นมานานแค่ไหน ก็คงไม่เคยเห็นตลาดหุ้นของสหรัฐทั้งสามตลาด ดิ่งลงแรงพร้อมกันเกือบ 10 % ภายในหนึ่งวัน ดัชนีดาวโจนส์ทรุดกว่า 2,000 จุด เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 12 มี.ค. 2563 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา ระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย ได้ประกาศใช้ circuit breaker เป็นวันที่สอง
ตลาดหลักทรัพย์รู้แล้วหล่ะว่าจะต้องรีบทำอะไร มัวแต่รอผลการศึกษาคงไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการปรับเกณฑ์”ชอร์ตเซล” (การขายหุ้นล่วงหน้า) เพราะก่อนหน้านั้น คนในวงการตลาดทุนได้เสนอแนะทางออกนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาหุ้นไทยดิ่งลงแรงเกินไปได้ และหยิบยกเหตุผลตลาดหุ้นหลายประเทศ เริ่มมีการห้ามทำชอร์ตเซลทั้งตลาด หรือหุ้นบางกลุ่มแล้ว เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้
ตลาดตัดสินใจแล้ว และต้องการประกาศให้มีผลบังคับใช้ก่อนเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์ วันที่ 13 มี.ค. 2563 แต่ก็ไม่ทัน เป็นเพราะ…
ติดกฎหมาย มาตรา 170 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2562
มาตรา 170 ให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายควบคุมดูแลการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ และปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ แต่หากมีการกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบหรือข้อบังคับตาม (2) (3) (4) (8) (9) (10) (11) และ (12) ต้องรับฟังความเห็นจากที่ประชุมสมาชิกก่อน และการกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบหรือข้อบังคับตาม (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (11) และ (17) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.)แล้ว จึงให้ใช้บังคับได้
ดังนั้น การปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ตครั้งนี้ จะต้องให้บอร์ดก.ล.ต.เห็นชอบก่อน แต่ตลาดหลักทรัพย์ไม่ทราบกฎหมายข้อนี้ จึงต้องรอเวลาในการเรียกประชุมคณะกรรมการก.ล.ต. ด่วนในช่วงสาย เพื่อให้ความเห็นชอบ จึงสามารถประกาศให้มีผลบังคับใช้ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 มี.ค. และให้ผลนานจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 หรืออาจจะยกเลิกก่อนหากสถานการณ์คลี่คลายลง
หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงจากเดิมที่กำหนดให้สมาชิก(โบรกเกอร์) ขายได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย เป็นจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย มีความคิดเห็นไปต่างๆนานา
บล.เอเซีย พลัส มองว่า ไม่ได้เป็นการห้ามทำชอร์ตเซล เพียงแต่ลดความร้อนแรงของการทำชอร์ตเซลเท่านั้น
“น้ำหนักของมาตรการนี้ถือว่าค่อนข้างเบา ซึ่งผิดจากความคาดหมาย “
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า โดยกลไกแล้ว นอกจากชอร์ตเซล ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นการเพิ่ม Momentum ให้กับตลาดเช่น Block Trade, อนุพันธ์ประเภทต่างๆ , การซื้อขายด้วยสินเชื่อ(มาร์จิ้น) เป็นต้น ซึ่งกลไกส่วนที่เหลือยังคงทำงานอยู่ และเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นในช่วงต่อไป
อีกมุมมองหนึ่งของคนในวงการตลาดทุนมองว่า ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ห้ามทำชอร์ตเซล แต่การให้ชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย หรือเสนอขายสูงกว่า 1 ช่วงราคา ทำให้นักลงทุนไม่สามารถสั่งขาย(ชอร์ต)ได้ทันที และไม่สามารถตั้งขายด้วยคำสั่งพิเศษ เช่น ATO เมื่อต้องการขายทันทีที่ตลาดเปิดการซื้อขาย ณ ราคาเปิด เพราะเกณฑ์ใหม่ จะต้องตั้งออเดอร์ในราคาที่สูงกว่าครั้งสุดท้าย ก็ต้องรอตามคิว แต่ไม่รู้ว่าจะจับคู่ซื้อ-ขายได้เมื่อไร
เกณฑ์ใหม่นี้เปรียบเสมือนกับการห้ามทำชอร์ตเซล สำหรับนักเก็งกำไร หรือในยามสำคัญช่วง”แพนิคเซล” แต่ก็ยังดีที่เปิดช่องให้นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสจากแนวโน้มตลาดขาลง ยืมหุ้นมาขายก่อนได้ ยอมเสียอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ขณะที่ผู้ให้ยืมหุ้นได้รับผลตอบแทน 3%ต่อปี โบรกเกอร์รับส่วนต่าง 2% ต่อปี เมื่อคำนวณจำนวนหุ้นที่ยืมกับราคาหุ้นแล้ว นับเป็นรายได้ที่ดีทีเดียวของโบรเกอร์ที่ทำธุรกิจ SBL