HoonSmart.com>> “ธนาคารทหารไทย” เผยธนชาตปล่อยสินเชื่อให้ดีลเลอร์เชฟโรเลตในระดับต่ำ ประเมินกรณีจีเอ็มประกาศยุติการขายเชฟโรเลตในไทยมีผลกระทบน้อยและบริหารจัดการได้ สถานะทางการเงินยังแข็งแกร่ง
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยถึงกรณีจีเอ็มจะยุติการขายรถเชฟโรเลตภายในสิ้นปี 2563 และผลที่มีต่อธนาคารธนชาต ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการแคปทีฟ ไฟแนนซ์ (Captive Finance) หรือการให้สินเชื่อแก่บริษัทในเครือและตัวแทนจำน่ายรถยนต์ หรือ ดีลเลอร์ของเชฟโรเลตว่า ธนาคารได้ทำการประเมินข้อมูลและพบว่า สินเชื่อที่ให้กับดีลเลอร์เชฟโรเลตมียอดคงค้างในส่วนของสินเชื่อที่มีระยะเวลากำหนด (Term Loan) เป็นสัดส่วนเพียง 0.002% ทั้งยังเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ส่วนสินเชื่อหมุนเวียน (Floor Plan) มีสัดส่วน 0.03% ของสินเชื่อรวมของทีเอ็มบีและบริษัทย่อย จึงประเมินว่าหากมีผลกระทบก็จะน้อย อีกทั้งธนาคารธนชาตเป็นผู้นำด้านสินเชื่อเช่าซื้อและมีประสบการณ์ในตลาดมานาน เชื่อมั่นว่าสามารถบริหารจัดการได้”
สำหรับรายละเอียดจากข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีดังนี้ 1) ยอดคงค้างสินเชื่อที่มีระยะเวลากำหนดที่ให้กับดีลเลอร์เชฟโรเลตมีเพียง 23 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.002% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด และเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันครอบคลุม และ 2) สินเชื่อหมุนเวียน หรือ Inventory Financing ซึ่งเป็นสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการซื้อรถยนต์สำหรับจัดแสดงและจำหน่าย มียอดคงค้างประมาณ 469 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.03% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด (งบการเงินรวม) ทั้งนี้ ยอดคงค้างของสินเชื่อหมุนเวียนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ได้จัดโปรโมชันก่อนยุติการจำหน่ายรถยนต์ในไทย ส่งผลให้ดีลเลอร์สามารถจำหน่ายรถที่นำมาจัดแสดงออกไปได้อย่างรวดเร็ว ธนาคารธนชาตจึงสามารถลดยอดคงค้างของสินเชื่อในส่วนนี้ได้ และจากโปรโมชันดังกล่าว เชื่อว่าดีลเลอร์จะสามารถขายรถที่สต๊อกไว้ออกไปได้หมด
นอกจากนี้ ธนาคารธนชาตได้ดำเนินมาตรการรองรับอย่างทันท่วงที โดยได้พิจารณาปรับลดวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนสำหรับดีลเลอร์เชฟโรเลตแต่ละรายตามความเหมาะสม และดำเนินการดูแลคุณภาพทั้งลูกค้าดีลเลอร์และลูกค้ารายย่อยอย่างใกล้ชิด และจากการที่เชฟโรเลตยังยืนยันที่จะร่วมมือและให้การสนับสนุนดีลเลอร์หรือศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลตทั่วประเทศไทยเพื่อให้บริการหลังการขายและดูแลลูกค้าต่อไป จึงประเมินว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นค่อนข้างต่ำและอยู่ในระดับที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ ทีเอ็มบีดำเนินการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดและมีฐานเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2562 ที่ 2.35% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.9% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 14.6% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ