โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
มนุษย์เงินเดือนอย่างที่เรารู้กัน เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องเกษียณอายุมากที่สุด เพราะรายได้ที่เคยมีก็จะกลายเป็น 0 บาท สวัสดิการรักษาพยาบาลที่เคยได้รับก็จะหมดไป แต่ในช่วงวัยเกษียณกลับเป็นช่วงที่มีปัญหาด้านสุขภาพมากที่สุด ทำนองว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย หนีไม่พ้น ยิ่งแก่ก็จะยิ่งป่วย แต่ยิ่งแก่ รายได้ก็ยิ่งไม่มี ทำไงดี
ในความโชคร้าย ยังมีโชคดี มนุษย์เงินเดือนแม้จะมีปัญหาด้านรายได้ กับ สวัสดิการรักษาพยาบาลยามเกษียณอย่างที่กล่าว แต่ก็ยังดีที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินสำรองยามเกษียณ และมีประกันสังคมที่ให้เราเลือกได้ว่าอยากจะได้เงินหรือ สวัสดิการรักษาพยาบาล วันนี้เลยอยากคุยเรื่องการรับเงินหรือสวัสดิการจากประกันสังคม
การรับเงินจากประกันสังคมขึ้นอยู่กับว่าเรามีอายุสมาชิกในประกันสังคมเท่าไหร่ ถ้าไม่ถึง 180 เดือน ก็จะได้เป็นเงินก้อนๆเดียว เรียกว่า “เงินบำเหน็จ” แต่ถ้าอายุสมาชิกประกันสังคมเราถึง 180 เดือน ก็จะได้เงินบำนาญขั้นต่ำที่อัตราบำนาญชราภาพ 20% ของเงินเดือน (ฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน) และจะได้อัตราบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอีกในอัตรา 1.5% ต่ออายุสมาชิกที่มากกว่า 180 เดือนทุก 12 เดือนไปจนเสียชีวิต
ดังนั้นถ้าอยากได้เงินใช้ทุกเดือน (บำนาญ) ก็ต้องมีอายุสมาชิกไม่ต่ำกว่า 180 เดือน เราสามารถเพิ่มอายุสมาชิกเราได้ด้วยการต่อ มาตรา 39 โดยจ่ายเงินสมทบที่ 9% ของฐานเงินเดือน (ฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 4,800 บาท/เดือน) คือจ่ายสูงสุดไม่เกิน 432 บาท/เดือน
• ข้อดี คือ เราจะได้บำนาญแทนบำเหน็จ
• ข้อเสีย คือ เงินบำนาญจะคิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย แปลว่าหากเราต่อ ม39 ฐานเงินเดือนเฉลี่ยอาจจะลดลงจากฐานเงินเดือนสูงสุด 4,800 บาทของ ม.39
เมื่อกฎหมายระบุอย่างนี้ ประเด็นข้อสงสัยที่พบเกี่ยวกับประกันสังคม ก็มีปลีกย่อยมากมาย ดังนี้ครับ
คำถามข้อที่ 1 ถ้าอายุสมาชิก 179 เดือน รับบำเหน็จไปแล้ว ค่อยต่อ ม.39 อีก 1 เดือนเพื่อให้อายุสมาชิกถึง 180 เดือนจะได้รับบำนาญ จะสามารถต่อได้หรือไม่ นับอายุสมาชิกต่อหรือไม่
คำตอบ ต่อ ม. 39 ได้ครับ แต่ไม่สามารถนับอายุสมาชิกต่อได้ เพราะถือว่าได้ถอนเงินต้นและผลประโยชน์ออกจากประกันสังคมหมดแล้ว ต้องเริ่มนับอายุสมาชิกใหม่จาก 0 เลยครับ
คำถามข้อที่ 2 ถ้าอายุสมาชิก 190 เดือน ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท รับบำนาญที่อัตรา 20% หรือ 3,000 บาท/เดือนไปแล้ว 5 เดือน ค่อยต่อ ม.39 อีก 2 เดือน เพื่อให้เกิน 180 เดือนครบ 12 เดือน จะได้เพิ่มอัตราบำนาญชราภาพจาก 20% เป็น 21.5% จะสามารถต่อได้หรือไม่ นับอายุสมาชิกต่อหรือไม่ และเงินบำนาญจะได้เท่าไหร่
คำตอบ ต่อ ม. 39 ได้ครับ และสามารถนับอายุสมาชิกต่อได้ แต่การนับจะตัดเศษของ 12 เดือนทิ้ง กรณีรับบำนาญครั้งแรกเกิน 180 เดือนมา 10 เดือน ตัด 10 เดือนทิ้ง จึงได้อัตราบำนาญชราภาพแค่ 20% มาต่อ ม.39 อีก 2 เดือนก็นับใหม่ ไม่สามารถนับต่อ 190 + 2 เป็น 192 เดือนได้ แต่ถ้าอยากได้อัตราบำนาญชราภาพเพิ่มมากกว่า 20% ต้องต่อ ม.39 อีก 12 เดือน แต่จะได้อัตราบำนาญชราภาพเพิ่มอีก 1.5% ต่ออายุสมาชิกที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน
ข้อ 3 การจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่บุคคลซึ่งถูกงดการจ่ายเงินบำนาญชราภาพและในภายหลังได้กลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนใหม่ตามมาตรา 77 ตรี ให้จ่ายตามจำนวนเงินบำนาญชราภาพเดิมที่ได้รับก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน และให้จ่ายเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งของค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณเงินบำนาญชราภาพเดิมก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุกสิบสองเดือนในช่วงระยะเวลาที่กลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนในครั้งหลัง
ส่วนเงินบำนาญจะได้เท่าไหร่ กฎหมายนี้ให้จ่ายตามจำนวนเงินบำนาญชราภาพเดิมที่ได้รับก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนเป็นเกณฑ์ กรณีนี้คือ 3,000 บาท/เดือน จะไม่เอาฐานเงินเดือนตาม ม.39 มาเฉลี่ย แต่อัตราเงินบำนาญชราภาพจะเพิ่มตามจำนวนเดือนที่เพิ่มตามที่กล่าวไปแล้ว แต่เพิ่มแค่ 1% ต่อทุก 12 เดือน ไม่ใช่ 1.5% เหมือนอย่างกรณีที่ไม่เคยรับบำนาญชราภาพ
คำถามข้อที่ 3 ถ้าอายุสมาชิก 190 เดือน ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาทรับบำนาญที่อัตรา 20% หรือ 3,000 บาท/เดือนไปแล้ว 9 เดือน อยากต่อ ม.39 ได้หรือไม่
คำตอบ ต่อ ม. 39 ไม่ได้ครับ เพราะจะต่อ ม. 39 ได้ ต้องออกจากงานไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันที่ลาออกจากงาน
คำถามข้อที่ 4 ถ้าอายุสมาชิก 190 เดือน ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาทรับบำนาญที่อัตรา 20% หรือ 3,000 บาท/เดือนไปแล้ว 9 เดือน เมื่อต่อ ม.39 ไม่ได้ จะต่อ ม.33 ได้หรือไม่ นับอายุสมาชิกต่อหรือไม่ และเมื่อออกจาก ม.33 จะต่อ ม.39 ได้เพื่อรักษาสิทธิรักษาพยาบาลได้หรือไม่
คำตอบ ต่อ ม. 33 ได้ครับ แต่การจะต่อ ม. 33 ต้องกลับเข้าไปทำงานใหม่ และสามารถนับอายุสมาชิกต่อได้ แต่การนับอายุสมาชิกจะตัดเศษของ 12 เดือนทิ้ง กรณีรับบำนาญครั้งแรกเกิน 180 เดือนมา 10 เดือน ตัด 10 เดือนทิ้ง จึงได้อัตราบำนาญชราภาพแค่ 20% มาต่อ ม.33 อีก 2 เดือนก็นับใหม่ ไม่สามารถนับต่อ 190 + 2 เป็น 192 เดือนได้ แต่ถ้าอยากได้อัตราบำนาญชราภาพเป็น 21.50% ต้องต่อ ม.33 อีก 12 เดือนถึงจะได้อัตราบำนาญชราภาพเพิ่มอีก แต่ก็จะได้เพิ่มแค่ 1% ต่ออายุสมาชิกที่เพิ่มขึ้น 12 เดือน (เหมือนคำถามข้อ 2)
ส่วนจะต่อ ม.39 หลังจากออกจาก ม.33 ได้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้ครับ แต่ก็อยู่ใต้เงื่อนไขเดิม จะต่อ ม. 39 ได้ ต้องออกจากงานไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันที่ลาออกจากงานครับ