กองทุนรวม 8 เดือนโต 2 แสนล้าน “ตราสารหนี้” โดดเด่น

HoonSmart.com>> “สมาคมบริษัทจัดการลงทุน” เผย 8 เดือนแรกปี 66 “กองทุนรวม” เติบโต 2.05 แสนล้านบาท กว่า 4.19% มูลค่าทรัพย์สิน (AUM) แตะ 5.08 ล้านล้านบาท “กองทุนตราสารหนี้” เพิ่มขึ้น 1.82 แสนล้านบาท เฉียด 9% ด้าน “กองทุนหุ้น” แผ่วลงเล็กน้อยจากเดือนก.ค. ส่วนกองทุนลดหย่อนภาษี RMF-SSF โต “บลจ.ยูโอบี” ยังเชียร์ลงทุน “ตราสารหนี้” ชี้โอกาสดีในวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ แนะลงทุนตราสารหนี้มีคุณภาพ ลดเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ขยับลงทุนตราสารหนี้ Duration มากขึ้น ส่วน “หุ้น” เน้นธีม Robotics &AI, EV, ESG, Quality Growth

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 สิ้นสุด 31 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิแตะ 5,083,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 204,631 ล้านบาท หรือ 4.19% จากสิ้นปี 2565 มีมูลค่า 4,878,893 ล้านบาท

ด้านกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในอุตสาหกรรมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2,234,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 182,005 ล้านบาท หรือ 8.87% จากสิ้นปีก่อน กองทุนหุ้นมีมูลค่า 1,624,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,672 ล้านบาท หรือ 0.91% แต่ย่อตัวลงเล็กน้อย 0.25% หรือจำนวน 4,115 ล้านบาท จากเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ด้านทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่า 233,495 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,916 ล้านบาท หรือ 6.34% ขณะที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่า 377,018 ล้านบาท ลดลง 10,419 ล้านบาท หรือ -2.69% กองทุนรวมผสมมีมูลค่า 338,896 ล้านบาท ลดลง 7,835 ล้านบาท หรือ -2.26%

อย่างไรก็ตามหากแยกรายประเภทกองทุน ซึ่งกองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิขยับขึ้นแตะ 963,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45,369 ล้านบาท หรือ 4.94% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่ มาร์เก็ต) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 259,369 ล้านบาท ลดลง 50,652 ล้านบาท หรือ -16.34% สะท้อนเงินไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

กองทุนลดภาษี “RMF-SSF” โตสวน LTF มูลค่าลดลง

ส่วนกองทุนประหยัดภาษี กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สิน 407,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,587 ล้านบาท หรือ 0.89% กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มูลค่าลดลงอยู่ที่ 294,425 ล้านบาท ลดลง 37,927 ล้านบาท หรือ -11.41% และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,680 ล้านบาท หรือ 10.25%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 5 อันดับแรกที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดจากทั้งหมด 22 แห่ง ยังคงเป็นบลจ.กสิกรไทยมูลค่า 1,138,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72,271 ล้านบาท หรือ 6.78% รองลงมาบลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 925,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,325 ล้านบาท หรือ 3.74% อันดับสาม บลจ.บัวหลวง อยู่ที่ 748,025 ล้านบาท ลดลง 480 ล้านบาท หรือ -0.06% อันดับสี่ บลจ.กรุงไทย 581,597 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,182 ล้านบาท หรือ 3.59% และอันดับห้า บลจ.กรุงศรี มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 412,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,982 ล้านบาท หรือ 4.82%

ขณะที่บลจ.ที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ บลจ.เกียรตินาคินภัทร เพิ่มขึ้น 31.35% หรือกว่า 29,273 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิแตะ 122,642 ล้านบาท รองลงมาบลจ.ทาลิส เติบโต 16.61% หรือ 507 ล้านบาท มาอยู่ที่ 3,561 ล้านบาท บลจ.บางกอกแคปปิตอล เติบโต 12.76% หรือ 2,861 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิแตะ 25,275 ล้านบาท

“บลจ.ยูโอบี” มองยังเป็นโอกาสลงทุน “ตราสารหนี้” ดอกเบี้ยใกล้พีค

ด้านบลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มองการลงทุนในตราสารหนี้ยังคงเป็น คำแนะนำหลักและเป็นโอกาสที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ ด้วย Yield ที่ Pick Up ขึ้นมาจะเป็น Cushion ในการรองรับความผันผวนได้ดี รวมถึงโอกาสในการรับ Capital Gain จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่กำลังผ่านจุดสูงสุด โดยแนะนำเน้นลงทุน “ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ” ผ่านกองทุน UGIS และ UNIC เพื่อลดความเสี่ยงที่เป็น Tail Risk จากการผิดนัดชำระหนี้ในกรณีที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย

พร้อมแนะนำให้เริ่มพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ที่มี Duration ที่มากขึ้นผ่านกองทุน UDB โดยทยอยลงทุนตามจังหวะที่ตลาดมีความผันผวนจากการ Priced-In ประเด็นเรื่อง Higher for Longer และ Yield Curve Control

สำหรับการลงทุนในตราสารทุน แม้ว่าตลาดจะมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น แต่ความเสี่ยงเรื่อง Recession ยังคงอยู่ โดยแนะนำการลงทุนในหุ้น Growth Stock ที่มี Earnings Visibility ที่ดี เป็น Secular Trend โดยหุ้นอย่างธีม Robotics &AI, EV, ESG, Quality Growth โดยอาศัยจังหวะตลาดผันผวนก่อนการประชุม Fed ในช่วงปลายเดือนก.ย.ในการเข้าทยอยเข้าลงทุน แนะนำกองทุน UEV, USEG และ UGQG โดยเฉพาะธีม Robotics &AI ที่ได้รับอานิสงส์หลังจากการประกาศผลประกอบการณ์ของบริษัท Nvidia ที่ชี้ให้เห็นว่าเรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของ AI แนะนำทยอยสะสมในกองทุน UBOT

ขณะที่ระยะกลางตลาดจะค่อยๆ Price In ไปยังวัฎจักรการฟื้นตัวเศรษฐกิจและเปิดโอกาสให้หุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่กว้างขึ้นได้ไปยังกลุ่มที่ Laggard และ Valution ที่น่าสนใจ แนะนำให้ลงทุนในกลุ่ม Mid-Small Cap หรือ Cyclical Play ในระยะถัดไป

MFC เพิ่มน้ำหนัก “หุ้นสหรัฐฯ-หุ้นไทย-ทองคำ-น้ำมัน”

ด้านบลจ.เอ็มเอฟซี แนะนำ “Slightly Overweight” เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระยะสั้น ( 6 เดือน) จาก Neutral เป็น Slightly Overweight ขณะที่ภาพระยะกลางถึงยาว (6-12 เดือน) ยังคงน้ำหนัก Neutral แนะนำกองทุน MGF, M-EDGE และ MCONT

ตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ปัจจุบันค่า Forward P/E ของดัชนี SET Index ณ วันที่ 28 ส.ค.66 อยู่ที่ระดับ 15.85 เท่า กองทุนแนะนำ MBT-G, M-MIDSMALL, M-FOCUS และ HIDIV-D พร้อมทั้ง “Slightly Overweight” ทองคำและน้ำมัน