HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดบวก ดัชนีดาวโจนส์ปรับเพิ่มขึ้น 10 จุด ถูกจำกัดจากการลดลงมากกว่า 2% ของ Merck และ UnitedHealth นักลงทุนสลับไปซื้อหุ้นกลุ่มการเงินหนุนดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นไปที่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนและแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่วน ดัชนี Nasdaq +0.36% ราคาน้ำมันดิบร่วง 41 เซนต์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดบวก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดวันที่ 6มิถุนายน 2566 ที่ 33,573.28 จุด เพิ่มขึ้น 10.42 จุด หรือ 0.03% การปรับขึ้นถูกจำกัดจากการลดลงที่มากกว่า 2% ของ Merck และ UnitedHealth ขณะที่การสลับไปซื้อหุ้นกลุ่มการเงินส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นไปที่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนและแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,283.85 จุด เพิ่มขึ้น 10.06 จุด, +0.24%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,276.42 จุด เพิ่มขึ้น 46.99 จุด, +0.36%
หุ้นธนาคารภูมิภาคปรับปรับตัวขึ้นและดัชนี KBW บวก 5.4%
ดัชนี S&P 500 ใกล้เข้าสู่ภาวะตลาดขาขึ้น( bull market) จากการปรับขึ้น 4% ของ Zions Bancorporation (ZION) และ 6% ของ Comerica Incorporated ส่วนดัชนี NASDAQ บวกติดต่อกันวันที่จากรับแรงหนุนหุ้น AMD และหุ้น Intel
BMO Capital Markets ปรับเป้าหมายดัชนี S&P 500 ขึ้นไปที่ 4,550 จุด
หุ้น Coinbase แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐลดลงกว่า 12% หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฟ้อง ในข้อหาดำเนินธุรกิจโบรกเกอร์และแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลผิดกฎหมายเพราะไม่ได้ลงทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแล
หุ้นแอปเปิลลดลง หลังเปิดตัวแว่น AR รุ่น Vision Pro
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงหลังรัฐบาลสหรัฐเริ่มออกพันธบัตรใหม่ในวันจันทร์เพื่อระดมเงินสด หลังมีการขยายเพดานหนี้ ซึ่งจะมีผลต่อสภาพคล่องและมีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดการเงิน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีลดลง มาที่ 3.8% แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นมาที่ 3.6% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นมาที่ 4.5%
อย่างไรก็ตาม โทมัส ไซมอนส์นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Jefferies กล่าวว่า แม้มีความเสี่ยงว่าจะมีการออกพันธบัตรอย่างรวดเร็วและอาจจะดูดสภาพคล่องออจากสินทรัพย์เสี่ยง แต่ก็ไม่ได้กังวลมาก
ธนาคารโลกระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ว่า ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2023 ลงมาที่ 2.1% จาก 3.1% ในปี 2022 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูง ด้วยผลพวงจากภาวะวิกฤติในภาคธนาคารและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่กลุ่มประเทศ Emerging และกำลังพัฒนาจะขยายตัวที่ 4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.6% จากที่ประเมินไว้ในเดือนมกราคม แต่หากไม่รวมจีนกลุ่มประเทศ กำลังพัฒนาจะโตต่ำกว่า 3%
ส่วนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปจะขยายตัวเพียง 0.7% ลดลงจาก 2.6% ในปี 2022 โดยเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 1.1% และชะลอตัวลงมาที่ 0.8% ในปี 2024
ส่วนญี่ปุ่นและยุโรปจะเติบโตต่ำกว่า 1% ในปี 2023
ธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะล่อแหลม เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้กลุ่มประเทศรายได้ต่ำเปราะบาง ความวิตกนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น
โดยที่เงินเฟ้อของสหรัฐยังอยู่ในระดับสูงทำให้บรรดาเทรดเดอร์คาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะคงดอกเบี้ยในการประชุมกลางเดือนนี้ แต่ก็เปิดทางที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไว้
นายริชาร์ด คลาริดา อดีตรองประธานเฟดกล่าวว่า โอกาสที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยมีน้อยจนกว่าจะถึงปี 2024
เจฟฟ์ คิลเบิร์ก ซีอีโอของKKM Financial กล่าวว่า ตลาดอาจจะไม่เจอการเหวี่ยงมากนัก ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของเฟดในสัปดาห์หน้า
คริส เซนเยก จาก Wolfe Research ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงอีกนาน
เพราะเงินเฟ้อยังสูงอยู่
นักลงทุนรอการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPIเดือนพฤษภาคมในวันที่ 13 มิถุนายน และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันที่ 14 มิถุนายน
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 75.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายน
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีปรับตัวขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหภาพยุโรประบุว่า เงินเฟ้อคาดการณ์ลดลงอย่างมากในเดือนเมษายน ขณะที่ตลาดยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้น Novo Nordisk ธุรกิจเฮลธ์แคร์รายใหญ่
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นถูกจำกัดด้วยความกังวลว่าธนาคารกลางหลายประเทศจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก แม้เศรษฐกิจชะลอตัว
กลุ่มเฮลธ์แคร์ซึ่งจัดเป็นหุ้น Defensive บวก 1.2% หุ้น Novo Nordisk ในเดนมาร์กพุ่ง 4.1%หลังประกาศว่ากำลังเจรจาซื้อหุ้นใน Biocorp ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเครื่่องมือแพทย์ในฝรั่งเศส หุ้น Biocorp บวก 15.7%
ผู้ว่าการธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ คลาสส์ น็อต กล่าวว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในยูโรโซนอาจจะยากที่จะดึงลง แต่นโยบายการเงินเริ่มมีสัญญานว่ามีประสิทธิภาพและการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปต้องทำแบบทีละขั้น
ยอดค้าปลีกยูโรโซนเดือนเมษายนทรงตัว ผู้บริโภคใช้จ่ายด้านอาหารและเชื้อเพลิงรถยนต์น้อยลง แต่ใช้จ่ายด้านอื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะออนไลน์
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 461.68 จุด เพิ่มขึ้น 1.75 จุด, +0.38%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,628.10 จุด เพิ่มขึ้น 28.11 จุด, +0.37%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,209.00 จุด เพิ่มขึ้น 8.09 จุด, +0.11%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,992.44 จุด เพิ่มขึ้น 28.55 จุด, +0.18%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 71.74ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 42 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 76.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล