‘ภากร’คาดฟันด์โฟลว์ครึ่งปีหลังดีขึ้น ท่องเที่ยว-อาหาร-บริโภคฟื้น

HoonSmart.com>>’ภากร’คาดเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ดึงดูดฟันด์โฟลว์ครึ่งปีหลังดีขึ้น ‘ศรพล’ มองปัจจัยต่างประเทศผ่อนคลาย รอนโยบายรัฐบาลหนุน เงินไหลกลับ  ส่วนสถาบันไทยซื้อต่อเนื่อง ชอบ Forward P/E ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จับตาซาอุดิอาระเบียลดกำลังผลิต ดันราคาน้ำมันขึ้น เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้ออีกรอบ 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ฟันด์โฟลว์ในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเศรษฐกิจและหลายอุตสาหกรรมดีขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะกลับเข้ามา แต่นักลงทุนจะต้องพิจารณาเป็นส่วนๆ เช่น ท่องเที่ยว อาหาร และการบริโภคดีขึ้นมาก หากเป็นเรื่องส่งออกยังไม่ดี จะต้องดูโมเมนตัม

ที่ผ่านมาฟันด์โฟลว์มีความผันผวน วิ่งเข้า-ออกอย่างรวดเร็ว มีปัจจัยเปลี่ยนแปลงโดยตลอด มองย้อนกลับไป 2-3 ปีที่ผ่านมา ฟันด์โฟลว์มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ออกไปมาก ก่อนจะไหลกลับมาในช่วงปลายปี 2565ที่ผ่านมา  ก่อนจะไหลออกในปีนี้ แต่ไม่มีอะไรที่รุนแรงกว่าเดิม

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นเดือนพ.ค.2566มีความผันผวนค่อนข้างมาก ทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ เริ่มเห็นเงินทุนต่างชาติไหลออกจากพันธบัตรและหุ้นไทยในระยะสั้น หลังทราบผลการเลือกตั้ง  ผู้ลงทุนกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามดัชนีหุ้นไทยบวก 0.3% จากเดือนก่อนหน้า ถือว่าอยู่ระดับกลาง ดีกว่าหลายตลาด เช่น ฮ่องกงติดลบ 8.3% อินโดนีเซียลดลง 3% หากเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า ลดลง 8.1% ปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในอาเซียน

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ผู้ลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตรรัฐบาล ประกอบกับผลการประชุมของเฟด สะท้อนมุมมองว่าน่าจะอยู่ใกล้จุดที่จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุนโลก นักลงทุนคาดว่าต้นทุนทางการเงินจะไม่เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันมากนัก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวและความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูงมีอยู่จำกัด ทำให้ ธปท. ยังคงขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนยังคงติดตามความชัดเจนอย่างใกล้ชิด และหากนโยบายต่างๆ ไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการเพิ่มต้นทุนในการทำธุรกิจที่นักวิเคราะห์คาดว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามา นอกจากนี้ หากพิจารณาจากอัตราส่วน Forward P/E ของ SET ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้ผู้ลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศซื้อสุทธิใน 5 เดือนแรก

“สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ขึ้นช้ากว่าเงินเฟ้อ เมื่อรถแหกโค้ง ก็ต้องหยิบเบรคเร็ว จึงขึ้นดอกเบี้ยแรง ตอนนี้เงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวลง ลดแรงกดดันเฟดขึ้นดอกเบี้ย หลังจากดอกเบี้ยเดือนเม.ย.สูงกว่าเงินเฟ้อ  เป็นเดือนแรกที่ไม่เห็นดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ เป็นการบ่งบอกว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว”

ส่วนเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ของไทยเพิ่มขึ้นแค่ 0.53% ถือว่าต่ำ แต่ต้องติดตามต่อไป  เดือนมิ.ย. มองไปข้างหน้า เริ่มมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้ออีกครั้ง ที่น่าสนใจคือการลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย  เรื่องการลงทุนจะต้องเลือกบริษัทจดทะเบียนที่สามารถปรับตัว บริหารจัดการเรื่องต้นทุนด้านพลังงานได้ ฃ

ตลาดหุ้นไทย P/E Forward ณ สิ้นเดือนพ.ค.อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 20.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.1 เท่า ทำให้กองทุนในประเทศซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5  โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่าตลาด เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มการเงิน กลุ่มบริการ และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อัตราเงินปันผลตอบแทน อยู่ที่ระดับ 3.17% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.46%

ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 54,189 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 31.6% รวม 5 เดือนแรกเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 60,933 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 33,407 ล้านบาทต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

ในเดือนพ.ค.2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET   ได้แก่ บริษัท จีเอเบิล (GABLE)

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีการติดตามผลงาน บจ. ยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สูงกว่าก่อนช่วงเกิดโควิด แต่ราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และดอกเบี้ยสูง จะต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร ส่วน IPO  เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีความสัมพันธ์กับฟันด์โฟลว์  ดีล IPO มีลักษณะเฉพาะ นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับหุ้นรายตัว เช่น แนวโน้มธุรกิจ และกลุ่มอุตสาหกรรม