6 โบรกฯส่องหุ้นมิ.ย.ไม่สดใส ช่วงสูญญากาศการเมือง-รอดูประชุมเฟด

HoonSmart.com>> 6 โบรกเกอร์ส่องหุ้นเดือนมิ.ย.ไม่สดใสช่วงสูญญากาศทางการเมือง ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนจนกว่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่-นโยบาย อีกทั้งรอดูผลการประชุมเฟดที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ซึ่งตลาดคาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หวั่นเศรษฐกิจสหรัฐ-ยุโรปหัวทิ่ม โดยมองจุดต่ำสุดของดัชนีฯที่ 1,450 ส่วนขึ้นได้ดีสุด 1,580 จุด พร้อมมองหุ้นเด่นเดือนมิ.ย.คือ KTB, BBL, KBANK, SCB, TU, AOT, CPALL, MAKRO, PTG, OR, SIRI, BDMS, CPN, MINT, ORI, SAWAD, MTC, TIDLOR, BJC, CRC, GLOBAL, DOHOME, BEM, GULF, TTCL

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนมิ.ย. คาดว่าจะแกว่งแคบในลักษณะซึมในช่วงรอดูความชัดเจนการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นช่วงสูญญากาศทางการเมือง ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน เพราะนักลงทุนต่างชาติคงจะยังไม่เข้าลงทุนจนกว่าจะได้เห็นรัฐบาลก่อน และนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน ซึ่งนโยบายรัฐบาลชุดนี้คงจะเป็นแบบผสม ดังนั้นบางนโยบายที่วางไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอาจจะไม่ได้นำมาใช้ทันที อาจต้องรอไปก่อนเพื่อศึกษาถึงผลกระทบด้วย แต่ถ้าเมื่อไรการเมืองจบ หุ้นก็มีโอกาสรีบาวด์ขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังต้องรอติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้ตลาดคาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จากเดิมที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย และที่แน่ ๆ คือไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะทำให้เศรษฐกิจหัวทิ่มมากกว่าเดิมก็ได้ เป็นห่วง GDP ของสหรัฐ และอียู จะหดตัวไหม

ทั้งนี้ มองกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีฯในเดือนมิ.ย.จะมีแนวรับ 1,450-1,500 จุด แนวต้าน 1,560-1,570 จุด โดยหุ้นที่อิงนโยบายรัฐฯน่าสนใจลงทุน ซึ่งเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ ทั้งกลุ่มค้าปลีก, อาหาร และกลุ่มธนาคาร ก็ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่จุดพีค ส่วนกลุ่มไฟแนนซ์ จะรับผลดีถ้ากนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งคิดว่ากนง.น่าจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมเชียร์หุ้นเด่น คือ KTB และ CPALL พร้อมมองหุ้นในกลุ่มธนาคารแกร่งสุด จากกำไรดี และ NPL ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะ GDP ปรับตัวขึ้นเร็วกว่า แต่ช่วงนี้นักลงทุนคงจะเน้นเล่นหุ้นสั้น ๆ ตามปัจจัยบวกเฉพาะของหุ้นแต่ละตัว

น.ส.ชุติกาญจน์ สันติเมธวิรุฬ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดคงจะแกว่งตัวในเดือนมิ.ย.ในกรอบแนวรับ 1,490 จุด ถ้าหลุดก็มีโอกาสลงไปแถว 1,450 จุด ส่วนแนวต้าน 1,580 จุด จาก Overhang อยู่ที่ปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังกดดันอยู่ ซึ่งตาม Timeline จะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนขึ้นในเดือนก.ค.-ส.ค. อีกทั้งยังต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งรอดูการส่งสัญญาณจากเฟดเกี่ยวทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยยังปรับขึ้นก็จะกระทบต้นทุนที่สูงขึ้น เงินดอลลาร์สหรัฐก็จะแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ Fund Flow ไหลออก

อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยที่ยังดีอยู่ อีกทั้งปัจจุบันมีหุ้นหลายตัวที่ปรับตัวลงไปอยู่ในระดับที่น่าสนใจลงทุน อย่างหุ้นในกลุ่มธนาคาร, อาหาร, ท่องเที่ยว, ค้าปลีก โดยหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในเดือนมิ.ย.มองเป็นหุ้น BBL ให้ราคาเป้าหมาย 191 บาท ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น, สินเชื่อ Corporate แข็งแกร่ง, มีการตั้งสำรองฯสูง และราคาปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี และ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า

หุ้น TU ให้ราคาเป้าหมาย 20.10 บาท น่าจะเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับมาในไตรมาส 2/66, เริ่มทำ M&A มาช่วยเสริม, D/E ต่ำ-ราคาหุ้นปรับตัวลงไปมากแล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

หุ้น AOT ราคาเป้าหมาย 78 บาท แม้ไตรมาส 2/66 จะเป็นช่วง Low Season แต่การท่องเที่ยวยังดีอยู่ จึงมีลุ้นขึ้นไปต่อได้หลังราคาหุ้นพักตัวลงมาแถว 70 บาท น่าจะมีแรงรับ

หุ้น SIRI ราคาเป้าหมาย 2.18 บาท เปิดโครงการมากหนุนรายได้ กำไรสดใสชัดเจน ราคาปัจจุบันเทรดต่ำบุ๊ค โดยเทรด P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า

นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดมีความเสี่ยงมากจึงแนะนำให้ลดพอร์ตการลงทุน เนื่องจากช่วงสั้นมองตลาดยังไม่ฟื้น และมีโอกาสที่จะผันผวนได้ แม้ตลาดจะปรับตัวลงมามากแล้วจนมี Downside จำกัด แต่ก็ยังไม่มีปัจจัยบวกหนุน

ทั้งนี้ เดือนมิ.ย.ยังเป็นช่วงสูญญากาศในช่วงรอดูความชัดเจนทางการเมืองในประเทศ และยังต้องรอดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ด้วย ซึ่งใกล้วันประชุมเฟดก็มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จากเดิมที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่ดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง ดังนั้นในช่วงเดือนมิ.ย.นี้มองกรอบดัชนีฯไว้ที่ 1,490-1,550 จุด

สำหรับหุ้นที่ยังน่าลงทุนเป็นหุ้นในกลุ่ม Domestic plays แนะนำหุ้น CPALL ราคาเป้าหมาย 75 บาท, MAKRO ราคาเป้าหมายตาม Consensus ให้ไว้ 45 บาท, PTG ราคาเป้าหมาย 18.80 บาท และ OR ราคาเป้าหมาย 29 บาท

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯมอง กลยุทธ์การลงทุนเดือน มิ.ย. 23 ประเมินปัจจัยภายนอกทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอในครึ่งหลังปี 66 อัตราดอกเบี้ยของเฟดที่คาดปรับขึ้นอีก 0.25% และทรงตัวสูงนานยังกดดันสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนปัจจัยในประเทศการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังต้องใช้ระยะเวลายังคง Overhang แม้เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/66 ออกมาดีกว่าคาด แต่ประมาณการทั้งปี 2566 โดยรวมถูกปรับลง โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ทำให้ EPS ลดลงเหลือ 95 บาท +14% y-y จึงปรับลดเป้าดัชนี SET ลงจาก 1,700 จุดเหลือ 1,620 จุด ยังคงเน้นเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรโตดี มีความเสี่ยงกระทบจากนโยบายรัฐบาลใหม่จำกัด ได้อานิสงส์จากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ฟื้น รวมถึงราคาพลังงานที่ลดลง

หุ้นเด่นเดือน มิ.ย. มองเป็นหุ้น BDMS, CPN, MAKRO, MINT, ORI

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนมิ.ย.66 ว่า สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะแกว่งไซด์เวย์ โดยมองกรอบแนวรับ 2 ระดับได้แก่บริเวณ 1,500 จุดและ 1,470 จุด ซึ่งบริเวณ 1,470 จุดนั้นมองเป็นแนวรับสำคัญเนื่องจากเป็นระดับที่เทียบเคียงเท่ากับ Forward PBV 1.4x ซึ่งในอดีตมักเป็นระดับที่ดัชนี SET ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ในทางกลับกัน มองแนวต้าน 2 ระดับที่บริเวณ 1,570 จุดและ 1,600 จุดตามลำดับ โดยระดับ 1,600 จุดเป็นระดับที่ไม่น่าผ่าน เนื่องจากเป็นระดับดัชนีที่เหมาะสมในกรณี ดีสุดของเรา (Bull case) อิง Forward PE ที่ 14.2x และระดับ 2567 EPS ที่ 113 บาท

ภาพดัชนีหุ้นในช่วงครึ่งเดือนแรกมีโอกาสดีกว่าครึ่งเดือนหลัง จากการที่ในช่วงแรกนักลงทุนน่าจะเริ่ม Price in ความเป็นไปได้ที่เฟด จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. ซึ่งยังคงมีความเห็นเช่นเดิมว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น จากทิศทางตัวเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงมาพอสมควรในช่วงหลัง และการออกมาส่งสัญญาณ Dovish ของกรรมการเฟดต่าง ๆ ที่เด่นชัดมากขึ้น แต่หลังจากการประชุม FOMC ผ่านพ้นไปแล้ว อาจเห็นแรงขายทำกำไรหรือการ Sell on fact เกิดขึ้นได้

ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำใช้กลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบแนวต้าน-แนวรับที่กำหนดไว้ โดยมีกลุ่มหุ้นแนะนำประจำเดือนนี้ ได้แก่ 1. กลุ่มธนาคารที่น่าจะยังได้ประโยชน์จากวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ BBL, KBANK, SCB 2. กลุ่ม Consumer finance ที่ได้ประโยชน์จากแนวนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มคนฐานรากและความสามารถในการชำระหนี้ปรับสูงขึ้น ได้แก่ SAWAD, MTC, TIDLOR 3. กลุ่มที่อิงกับภาคการบริโภคที่ยังเห็นการขับเคลื่อนที่ดี และยังได้ประโยชน์สุทธิจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ BJC, MAKRO, CRC, GLOBAL, DOHOME

บล.เอเชีย พลัส ระบุกลยุทธ์การลงทุนในเดือนมิ.ย. ให้คงน้ำหนักพอร์ตหุ้นไทย 30% ของพอร์ต(Neutral) โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index เดือนมิ.ย.66 ไว้ที่ 1,490–1,575 จุด โดยปัจจัยขับเคลื่อน SET Index ยังคงหวังพึ่ง Fund flow ต่างชาติเป็นหลัก ส่วนปัจจัยกดดันยังมีอยู่จากปัจจัยภายในประเทศ กลยุทธ์ยังคงให้ทยอยสะสมหุ้นกำไรฟื้นตัวเด่นงวดไตรมาส 2/66 หรือ ราคาหุ้นปรับฐานลงมาลึกจน Valuation น่าสนใจ คือ BEM, CRC, GULF, KTB, MINT, TTCL

แม้การเจรจาเพดานหนี้สหรัฐ ที่ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นและจะนำไปโหวตในสภาต่อไป ทำให้สหรัฐรอดพ้นจากความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ในรอบนี้ไปได้ แต่ความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกลับมาอีกครั้ง โดยฝ่ายวิจัยฯ จึงยังคงน้ำหนักในต่างประเทศไว้ที่ 30% ของพอร์ตการลงทุน (Neutral) โดยกลยุทธ์เน้นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งและธุรกิจมีการเติบโตอิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตเป็นหลัก

ปัจจัยภายในประเทศ หลักๆ ติดตามความคืบหน้าตามกรอบเวลาทางการเมือง ตามไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่คาดเร็วสุด 11 ส.ค.66 พร้อมกับติดตามความคืบหน้านโยบายต่างๆ ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล 23 ข้อ ที่ส่งกระทบต่อตลาดหุ้น อาทิ การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า, การปฏิรูปที่ดิน, การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยที่ปรับฐานมาแล้วกว่า -8%ytd ถือว่า Laggard กว่าตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น +8%ytd รวมถึง Valuation
ตลาดหุ้นไทยยังถือว่ามีความน่าสนใจ ทั้ง MEYG ราว 4% ยังสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ อีกทั้งยังคาดหวัง Dividend Yield ได้กว่า 3% สูงกว่าระดับปกติ