3 แบงก์มองส่งออกปีนี้ขาลง กรุงศรีคาดวันนี้กนง.ขึ้นดบ.ครั้งสุดท้าย

HoonSmart.com>>บล.กรุงศรีฯมองส่งออกขาลง การอ่อนแอของเศรษฐกิจ อาจทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นครั้งสุดท้ายในการประชุมวันนี้ (31 พ.ค.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงเป้าส่งออกปีนี้หดตัว -1.2% อีกโจทย์สำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ขอติดตามวิเคราะห์ผลกระทบก่อนปรับประมาณการส่งออกใหม่ในช่วงเดือน มิ.ย. นี้

บล.กรุงศรีอยุธยามองการส่งออกที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนมี.ค.2566 พลิกกลับมาหดตัว 7.6% yoy ในเดือนเม.ย. ซึ่งแย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -2% อย่างมาก ในขณะที่การนำเข้าก็หดตัว 7.3% มากกว่า consensus ที่คาดไว้ที่ -4.9% แต่การนำเข้าที่อ่อนแอยังไม่สามารถชดเชยการส่งออกที่หดตัวอย่างหนักได้ ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 1.47 พันล้านดอลลาร์ จาก 2.72 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนก่อนหน้า

การส่งออกสินค้าเกษตรยังประคองตัวได้ดี โดยเพิ่มขึ้น 8.2% yoy นำโดยพืชผัก, หมูและไก่แช่แข็ง ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงถึง -11.2% yoy สินค้ากลุ่มที่โตอย่างโดดเด่นมีเพียงรถปิกอัพ และรถเพื่อการพาณิชย์ (+47.3% yoy) รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ (+10.4%) ในขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยังคงอยู่ในขาลง สอดคล้องกับแนวโน้มภาคการผลิตโลกที่ชะลอตัวลง

” เราคิดว่าไม่น่าแปลกใจที่ส่งออกเดือนเม.ย.หดตัว เพราะตัวชี้วัดที่บ่งชี้อนาคต (forward looking) ที่เชื่อถือได้ (การส่งออกเฉลี่ยของเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ – ไม่รวมน้ำมัน) ยังคงลดลงอย่างมากในระดับสองหลัก สอดคล้องกับ PMI ภาคการผลิตที่อ่อนแอของเศรษฐกิจหลักทั่วโลก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการนำเข้าวัตถุดิบที่ยังคงหดตัวลง (-10.8% yoy) จึงคาดว่าการส่งออกในเดือนต่อ ๆ ไปน่าจะยังแผ่วอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชน เพราะการนำเข้าสินค้าทุนลดลงอย่างมากถึง 9.5%”บล.กรุงศรีระบุ

สาเหตุที่ทำให้ส่งออกเดือนเม.ย.อ่อนแอน่าจะเป็นผลมาจากวันหยุดยาวมากกว่า ขณะที่ดัชนีชี้นำอื่นยังคงบ่งชี้ถึงอุปสรรคของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การอ่อนแอลงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อลดลงค่อนข้างเร็ว อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายในการประชุมวันนี้ (31 พ.ค.) ยังคาดว่าธปท. จะส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้

ด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกดดันส่งออกเดือนเม.ย.หดตัวมากขึ้นที่ -7.6% (YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7  ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากดดันอุปสงค์ของตลาดคู่ค้าสำคัญให้ลดลงเกือบทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกที่ฟื้นตัวในตลาดจีน โดยขยายตัว 23.0% (YoY) หลังหดตัวติดต่อกัน 10 เดือน

“ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ  นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบอื่น ๆ จะเข้ามากดดันภาคการส่งออก จึงมีมุมมองภาพรวมการส่งออก ในปี 2566 ยังคงติดลบที่ -1.2% ทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทยจะเป็นอีกโจทย์สำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากกว่าที่เคยประเมินไว้ คาดการณ์มูลค่าส่งออก (ระบบศุลกากร) ทั้งปีอยู่ที่ 1.2%YOY (ณ เดือน มี.ค.) และอยู่ระหว่างการติดตามวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ รวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ(El Nino) ที่อาจส่งกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ก่อนจะเผยแพร่ประมาณการส่งออกใหม่ในช่วงเดือน มิ.ย. นี้