ปิดฉาก ‘บล.เอเชียเวลท์’ รมว.คลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว

HoonSmart.com>>กระฉ่อน! ปิดฉากมหากาพย์ “บล.เอเชียเวลท์”รมว.คลัง” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เซ็นคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจทุกประเภท มีผลต้องปิดบริษัท รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา แฉเบื้องหลังกรณีนี้ยืดเยื้อร่วม 6 เดือนนับตั้งแต่ ก.ล.ต.ส่งหนังสือไปให้พิจารณาตั้งแต่ 9 ธ.ค.56 ฝีมือผู้ถือหุ้นบริษัท เอเชียเวลท์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ร้องขอความเป็นธรรม แต่ไม่รอด พบทำผิดร้ายแรงหลายกระทง  

แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า มีกระแสข่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-26 พ.ค.2566)  นาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังได้ลงนามในคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท ก.ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ (AWS)  แล้ว ตามคำแนะนำของก.ล.ต.ที่ส่งหนังสือให้พิจารณาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ทำให้ต้องเลิกบริษัท ตามมาตรา 148 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  มีผลตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สาเหตุที่รมว.คลังใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องนี้นานร่วม 6 เดือน เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นของบริษัท เอเชียเวลท์ โฮลดิ้ง (AWH) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบล.เอเชียเวลท์ ร้องขอความเป็นธรรม แต่ด้วยข้อมูลและหลักฐานของก.ล.ต.ทำให้บริษัทไม่สามารถรอดพ้นจากการถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯไปได้ เพราะเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.)ได้มีมติระงับการประกอบธุรกิจชั่วคราว หลังพบแอบนำเงินของลูกค้าจำนวน 157.99 ล้านบาทไปชำระค่าซื้อหุ้นบริษัทมอร์ รีเทิร์น (MORE) กับสำนักหักบัญชี และไม่สามารถนำเงินมาคืนได้ภายในวันที่กำหนด 20 พ.ย.2565

นอกจากนี้บริษัทยังมีฐานะการเงินอ่อนแอมาก ณ วันที่ 27 ธ.ค.65 เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ติดลบ 144 ล้านบาทและ NCR-96.48% ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามกฎหมายกำหนด จึงถูกระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท และโอนทรัพย์สินลูกค้าไปยังผู้ประกอบการรายอื่น  บริษัทจะกลับมาเปิดได้ ก็ต่อเมื่อดำรงเงินกองทุนได้และได้รับอนุญาตจากก.ล.ต.

สำหรับบล.เอเชียเวลท์ประสบปัญหามานาน ทั้งเรื่องผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี จนมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น ล่าสุด ถือหุ้นทั้งหมดผ่านนิติบุคคล ในชื่อ บริษัท เอเชียเวลท์ โฮลดิ้ง ที่มีกลุ่มเผชิญโชค ของบริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ ถือหุ้นใหญ่  สาเหตุที่ทำให้บริษัทเผชิญวิกฤตรอบนี้ เพราะรับคำสั่งซื้อหุ้น MORE ที่ผิดปกติ  จาก นายอภิมุข บำรุงวงศ์ (ปิงปอง) เกือบทั้งหมด แต่ผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินได้ บริษัทต้องรับผิดชอบ โดยเลือกใช้ช่องทางการแอบนำเงินของลูกค้ามาใช้โดยไม่ยินยอม  และเงินกองทุนติดลบ

ขณะเดียวกันก.ล.ต.ได้มีการตรวจสอบการดำเนินงานย้อนหลังไปถึงเดือนก.ค. 2556 สมัย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ เป็นประธานกรรมการบริษัท ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ได้มีการแยกทรัพย์สินของลูกค้าไม่ครบถ้วน โดยนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทหลายกรณี ซึ่งสาเหตุหลัก มาจากให้บริษัทแม่ กู้ยืมเงินจำนวน 460 ล้านบาท แต่เรียกคืนได้ไม่หมด คงเหลือยอดเงินกู้ยืม 220 ล้านบาท  ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้า

“บล.เอเชียเวลท์ทำผิดร้ายแรง ก.ล.ต.ดำเนินการกล่าวโทษบริษัท  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการลงโทษผู้บริหารที่มีส่วนรับผิดชอบด้วย “แหล่งข่าวกล่าว