PTTEP กำไร Q1/66 แตะ 1.93 หมื่นลบ. โต 83% รายได้เพิ่มขึ้น

HoonSmart.com>> “ปตท.สผ.” โชว์กำไรไตรมาส 1/66 โตแตะ 1.93 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 83% จากงวดปีก่อน รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 8% ขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติลดวูบ คาดปริมาณขายไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 437,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ส่วนทั้งปีคาดแตะ 456,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ด้านต้นทุนต่อหน่วยลดลง

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 19,281.39 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.86 บาท เพิ่มขึ้น 83.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 10,519.02 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.64 บาท

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ปตท.สผ. กล่าวว่า ไตรมาสที่ 1 บริษัทมีกำไรสุทธิ 569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่า 19,281 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่รายได้รวม 2,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่า 78,438 ล้านบาท ลดลงประมาณ 14% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 โดยหลักมาจากปริมาณการขายเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 460,817 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือลดลง 8% เนื่องจากปริมาณการขายจากโครงการในต่างประเทศลดลง แต่เมื่อเทียบไตรมาส 1 ปี 2565 ปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8% และมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากผลการดำเนินงานในรอบ 3 เดือนแรกของปี 2566 ปตท.สผ. สามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 8,300 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

ปตท.สผ.ได้คาดการณ์แนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2566 และทั้งปี 2566 คาดปริมาณการขายในไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 437,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ส่วนทั้งปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 456,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยลดลงจากปี 2565 โดยหลักจากปริมาณขายของโครงการต่างประเทศที่ลดลง

ส่วนราคาขาย ราคาน้ำมันดิบของบริษัทจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยคาดว่า ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6- 24 เดือน บริษัทคาดว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 และทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 5.9 และ 6.0 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อล้านบีทียูตามลำดับ ลดลงจากปีก่อนหน้าเป็นผลจากสัดส่วนปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) และโครงการจี2/61 (บงกช) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งมีราคาขายก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยลดลงเมื่อเทียบกับในระบบสัมปทานเดิมรวมถึงการปรับลดลงของราคาก๊าซฯ ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย

ด้านต้นทุน สำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 และทั้งปี 2566 ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 27- 28 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงจากต้นทุนต่อหน่วยของปี 2565 โดยหลักจากรายจ่ายค่าภาคหลวงต่อหน่วยที่ลดลงตามราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท และค่าเสื่อมราคาต่อหน่วยที่ลดลง

นายมนตรี กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยชนะประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย รอบที่ 24 จำนวน 2 แปลง คือ แปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการจี 1/61 และจี 2/61 ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเร่งแผนการพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทน้ำมันและก๊าซฯ ของมาเลเซีย เพื่อเข้ารับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงเอสเค 325 ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะสามารถต่อยอดการเติบโตในประเทศมาเลเซียได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านความคืบหน้าในโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) บริษัทได้เร่งการเจาะหลุมผลิต เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ตามแผนงานที่วางไว้ โดยจะเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในช่วงกลางปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี และจะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น ปตท.สผ. ได้หลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปีฐาน 2563 จนถึงปลายไตรมาสที่ 1 นี้ จากการบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P Portfolio) และกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต ได้แก่ การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

ด้านโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบด้านวิศวกรรม (Front-End Engineering and Design: FEED) โดยบริษัทคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ในครึ่งหลังปีนี้ ส่วนการพัฒนาพลังหมุนเวียนแสงอาทิตย์ของโครงการเอส 1 กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจพลังงานและสร้างการเติบโตในอนาคต ปตท.สผ. ได้ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ โดยได้จัดตั้งหน่วยงานเทคโนโลยีและคาร์บอนโซลูชั่น เพื่อมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและไฟฟ้า ไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) รวมถึงการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (CCU) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ